More

    หมู่บ้านขยายผล รอบศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลเกาะขนุน

    ที่ตั้งและอาณาเขต
              ตำบลเกาะขนุน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยตั้งอยู่ทางทิศเหนือของอำเภอพนมสารคาม  มีเนื้อที่ 99.69 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ  62,309  ไร่ มีอาณาเขตติดต่อดังรูปที่ 2-1
    ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลบ้านซ่อง อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา
    ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลลาดกระทิง อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา
    ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา และตำบลคู้ยายหมี อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา
    ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตำบลท่าถ่าน อำเภอพนมสารคาม  และตำบลหนองแหน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา 
    ตำบลเกาะขนุนมีถนนสายหลัก คือ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 331 (สายสัตหีบ–เขาหินซ้อน)  ผ่านหมู่ที่ 6,7,9,12,14 – ถนนสาย ฉะเชิงเทรา – กบินทร์บุรี (304) ผ่านหมู่ที่ 15 – ถนนสาย พนมสารคาม – สนามชัยเขต (3245) ผ่านหมู่ที่ 3,4,6,7 – ถนนลาดยางแอสฟัลท์ติกคอนกรีต จํานวน 64 สาย – ถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก ค.ส.ล. จํานวน 29 สาย – ถนนลูกรัง หรือถนนหินคลุก จํานวน 137 สาย – ถนนดิน จํานวน 12 สาย (องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะขนุน) 

    การแบ่งส่วนการปกครอง 
    ตำบลเกาะขนุน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา แบ่งส่วนการปกครองออกเป็น 
    15 หมู่บ้าน โดยแบ่งการปกครองเป็น 2 ส่วน คือ

    1. เขตการปกครองอยู่ในความรับผิดชอบขององค์การบริหารส่วนตำบลเกาะขนุน มี 14 หมู่บ้าน ดังนี้
      หมู่ที่ 2 บ้านซาก (บางส่วน) หมู่ที่ 9 บ้านหนองปรือ
      หมู่ที่ 3 บ้านปากคลองม่วง (บางส่วน) หมู่ที่ 10 บ้านห้วยพลู
      หมู่ที่ 4 บ้านหนองเสือ หมู่ที่ 11 บ้านหินดาษ
      หมู่ที่ 5 บ้านแหลมตะคร้อ หมู่ที่ 12 บ้านหนองอีโถน
      หมู่ที่ 6 บ้านนาน้อย หมู่ที่ 13 บ้านดอนขี้เหล็ก
      หมู่ที่ 7 บ้านชายเคือง หมู่ที่ 14 บ้านหนองบ่อ
      หมู่ที่ 8 บ้านไร่ดอน หมู่ที่ 15 บ้านห้วยสาม
      ที่มา : องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะขนุน, 2561 
    2. เขตการปกครองอยู่ในความรับผิดชอบขององค์การบริหารส่วนตำบลเกาะขนุน ประกอบด้วยพื้นที่หมู่บ้าน ดังนี้
      หมู่ที่ 1 โรงเลื่อยจักร
      หมู่ที่ 2 บ้านซาก (บางส่วน)
      หมู่ที่ 3 บ้านปากคลองม่วง (บางส่วน)
      ที่มา : เทศบาลตำบลเกาะขนุน, 2562

    ประวัติและเอกลักษณ์
              ตำบลเกาะขนุนเป็นตำบลเก่าแก่ตำบลหนึ่งของอำเภอพนมสารคามตั้งขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๔๓๗  เดิมเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ตั้งอยู่ริมคลอง  มีสภาพคล้ายเกาะน้ำท่วมไม่ถึง   มีทั้งขนุนป่าและขนุนบ้านขึ้นอยู่เป็นจำนวนมากจึงได้ชื่อว่า  “เกาะขนุน”มีการตั้งบ้านเรือนอยู่ริมน้ำรวมเป็นกลุ่มๆ  ในบริเวณริมฝั่งคลองทั้งสองด้าน  ในสมัยก่อนการคมนาคมส่วนใหญ่จะใช้เส้นทางน้ำในการเดินทางไปมา ปัจจุบันเรียกว่าคลองท่าลาด  ซึ่งยังคงไหลผ่านตำบลเกาะขนุนและตำบลอื่น ๆ อีกหลายตำบล  ต่อมาผู้คนจากหมู่บ้านอื่น ๆ ได้อพยพเข้ามาจับจองหักล้างถางพงทำนา ในบริเวณที่ลุ่ม  ทำไร่ ทำสวนในบริเวณที่ดอน  และตั้งโรงเลื่อยด้วยแรงคน  อยู่ใกล้ๆ ลำคลองนี้  มีการทำท่าน้ำเพื่อให้สามารถขึ้นมาติดต่อค้าขายได้เกิดเป็นย่านการค้า   มีตลาด  มีเรือจ้างมาบรรทุกสินค้าไม่ว่าจะเป็นไม้ซุง  ไม้แปรรูป  ของป่า  หรือพืชไร่ออกไปขายยังต่างอำเภอ  และต่างจังหวัดตำบลเกาะขนุนจึงเป็นแหล่งรวมสินค้าขายส่งหลายชนิด  ปัจจุบันมีพื้นที่ประมาณ  ๙๔.๓ ตารางกิโลเมตร  (เทศบาลตำบลเกาะขนุน, 2559)

    สภาพภูมิประเทศ
    ลักษณะภูมิประเทศมีสภาพพื้นที่เป็นที่ราบสูงและที่ราบลุ่ม

    ที่ตั้งและอาณาเขต ตำบลเกาะขนุน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา

    ความลาดชัน ตำบลเกาะขนุน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา

    สภาพภูมิอากาศ
    อยู่ภายใต้อิทธิพลของมรสุมที่พัดปกคลุมประเทศไทย 2 ชนิด คือ มรสุม ตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งลมนี้เป็นลมที่พัดพาความหนาวเย็นจากประเทศจีนมาสู่ประเทศไทยในช่วงฤดูหนาว อิทธิพลของลมนี้จะทําให้จังหวัดฉะเชิงเทราประสบกับสภาวะอากาศหนาวเย็นและแห้งแล้ง กับมรสุมตะวันตก เฉียงใต้ ซึ่งพัดปกคลุมในช่วงฤดูฝนซึ่งทําให้อากาศชุ่มชื้นและมีฝนทั่วไป

    ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่กลางเดือนตุลาคมถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ ฤดูร้อน เริ่มประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์และสิ้นสุดประมาณกลางเดือนพฤษภาคม ฤดูฝน เริ่มประมาณกลางเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนตุลาคม 

    มีอุณหภูมิเฉลี่ยตลอดทั้งปี 27.9 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 33.0 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย 22.8 องศาเซลเซียส

    เส้นชั้นน้ำฝน ตำบลเกาะขนุน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา

    สภาพการใช้ที่ดินในปัจจุบัน
              สภาพการใช้ที่ดินตำบลเกาะขนุน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งสำรวจโดยกลุ่มวิเคราะห์สภาพการใช้ที่ดิน (2564) ประกอบด้วย ประเภทการใช้ที่ดินต่างๆ ดังนี้
    1. พื้นที่ชุมชนและสิ่งปลูกสร้าง มีเนื้อที่ 11,167 ไร่ หรือร้อยละ 17.17 ของพื้นที่ตำบล
    2. พื้นที่เกษตรกรรม มีเนื้อที่ 45,868 ไร่ หรือร้อยละ 70.52 ของพื้นที่ตำบล ประกอบด้วย การใช้ประโยชน์ที่ดินด้านเกษตรกรรมต่างๆ ดังต่อไปนี้
         2.1 พื้นที่นา มีเนื้อที่ 11,712 ไร่ หรือร้อยละ 18.01 ของพื้นที่ตำบล ได้แก่ นาร้าง มีเนื้อที่ 550 ไร่หรือร้อยละ  0.85 นาข้าว มีเนื้อที่  11,162 ไร่ หรือร้อยละ 17.16
         2.2 พืชไร่ มีเนื้อที่ 14,092 ไร่ หรือร้อยละ 21.67 ของพื้นที่ตำบล ได้แก่ ไร่ร้าง ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง สับปะรด 
         2.3 ไม้ยืนต้น มีเนื้อที่ 15,986 ไร่ หรือร้อยละ 24.58 ของพื้นที่ตำบล ได้แก่ ไม้ยืนต้นผสมยางพารา ปาล์มน้ำมัน ยูคาลิปตัส  สัก  สะเดา สนประดิพัทธ์  กระถิน ประดู่  ไผ่ปลูกเพื่อการค้า ตะกู
         2.4 ไม้ผล มีเนื้อที่ 1,223 ไร่ หรือร้อยละ 1.88 ของพื้นที่ตำบล ได้แก่ ไม้ผลร้าง/เสื่อมโทรม ไม้ผลผสม   มะพร้าว มะม่วง มะม่วงหิมพานต์ กล้วย มะละกอ  ขนุน  กระท้อน มะนาว
         2.5 พืชสวน มีเนื้อที่  181 ไร่ หรือร้อยละ 0.28 ของพื้นที่ตำบล ได้แก่ พืชผัก ไม้ดอกไม้ประดับ
         2.6 ทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์และโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ มีเนื้อที่ 1,218 ไร่ หรือร้อยละ 1.87 ของพื้นที่ตำบล ได้แก่ ทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์และโรงเรือนเลี้ยงสัตว์  โรงเรือนเลี้ยงสัตว์ปีก  โรงเรือนเลี้ยงสุกร
         2.7 สถานที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ มีเนื้อที่ 1,422 ไร่ หรือร้อยละ 2.19 ของพื้นที่ตำบล ได้แก่ สถานที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำร้าง สถานที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำผสม สถานที่เพาะเลี้ยงปลา สถานที่เพาะเลี้ยงกุ้ง
         2.8 เกษตรผสมผสาน มีเนื้อที่ 34 ไร่  หรือ ร้อยละ 0.05  ของพื้นที่ตำบล ได้แก่ เกษตรผสมผสาน/ไร่นาสวนผสม
    3) พื้นที่ป่าไม้ มีเนื้อที่ 348 ไร่ หรือร้อยละ 0.54 ของพื้นที่ตำบล ประกอบด้วย ป่าผลัดใบสมบูรณ์ 
    4) พื้นที่แหล่งน้ำ มีเนื้อที่ 1,847 ไร่ หรือร้อยละ 2.88 ของพื้นที่ตำบล ประกอบด้วย แม่น้ำ ลำห้วย   ลำคลอง หนอง บึง ทะเลสาบ อ่างเก็บน้ำ บ่อน้ำในไร่นา และคลองชลประทาน
    5) พื้นที่เบ็ดเตล็ด มีเนื้อที่ 5,782 ไร่ หรือร้อยละ 8.89 ของพื้นที่ตำบล ประกอบด้วย ทุ่งหญ้าธรรมชาติ ทุ่งหญ้าสลับไม้พุ่ม/ไม้ละเมาะ พื้นที่ลุ่ม เหมืองเก่า  บ่อดิน พื้นที่ถม ที่ทิ้งขยะ

    สภาพเศรษฐกิจและสังคม
    สภาพสังคมโดยทั่วไป

    1) ประชากร
    ตำบลเกาะขนุน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ประกอบด้วย 15 หมู่บ้าน โดยแบ่งออกเป็นเขตองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะขนุนจำนวน 14 หมู่บ้าน โดยมีหมู่ที่ 2 และ 3 รวมอยู่บางส่วน และเขตเทศบาลตำบลเกาะขนุนจำนวน 1 หมู่บ้าน และมีหมู่ที่ 2 และ 3 รวมอยู่บางส่วน จากหลักฐานทะเบียนราษฎร์ของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี 2562 พบว่า ประชากรที่อาศัยในพื้นที่ตำบลเกาะขนุนมีประชากรรวม 16,238 ราย จำแนกเป็นชาย 7,927 ราย หญิง 8,311 ราย โดยประชากรส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 41-60ปี มีจำนวนครัวเรือนทั้งหมด 6,279 ครัวเรือน (กรมการปกครอง, 2562) เป็นครัวเรือนเกษตรกรที่มาขึ้นทะเบียนกรมส่งเสริมการเกษตร 1,159 ครัวเรือน หรือร้อยละ 18.46 เป็นครัวเรือนที่ประกอบอาชีพอื่นๆ และครัวเรือนเกษตรกรที่ไม่ได้มาขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร 5,120 ครัวเรือน หรือร้อยละ 81.54                          (กรมส่งเสริมการเกษตร, 2562)

    2) สภาพทั่วไป
    ตำบลเกาะขนุนแบ่งเขตการปกครองเป็น 2 ส่วน ดังนี้

    1. เขตการปกครองเทศบาลตำบลเกาะขนุน ตั้งอยู่ด้านตะวันออกของจังหวัดฉะเชิงเทรา อยู่ห่างจากจังหวัดฉะเชิงเทราประมาณ 38 กิโลเมตร มีเนื้อที่ทั้งหมด 3.60 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วยพื้นที่ในหมู่ที่ 1 หมู่ที่ 2 บางส่วน และหมู่ที่ 3 บางส่วน โดยมีทิศเหนือติดกับหมู่ที่ 2 ตำบลท่าถ่าน อำเภอพนมสารคาม ทิศใต้ติดกับหมู่ที่ 3 ตำบลเกาะขนุน อำเภอพนมสารคาม ทิศตะวันออกติดกับหมู่ที่ 5 และหมู่ที่ 8 ตำบลเกาะขนุน อำเภอพนมสารคาม และทิศตะวันตกติดกับตำบลท่าถ่าน อำเภอพนมสารคาม มีเส้นทางหลวงจังหวัดหมายเลข 3076 ตัดผ่านใจกลางเมือง มีถนนสายหลักที่ใช้ในการคมนาคมติดต่อกับพื้นที่ใกล้เคียงอยู่ 2 สาย คือ ทางหลวงหมายเลข 331 และถนนทางหลวงหมายเลข 304 (ฉะเชิงเทรา-กบินทร์บุรี) ในเขตเทศบาลมีถนน/ซอย จำนวน 39 สาย (เทศบาลตำบลเกาะขนุน, 2564)
    2. เขตการปกครององค์การบริหารส่วนตำบลเกาะขนุน ตั้งอยู่ด้านตะวันออกของจังหวัดฉะเชิงเทรา อยู่ห่างจากจังหวัดฉะเชิงเทราประมาณ 38 กิโลเมตร มีเนื้อที่ทั้งหมด 96.30 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วยพื้นที่ในหมู่ที่ 2 บางส่วน หมู่ที่ 3 บางส่วน และหมู่ที่ 4 ถึง 15 โดยมีทิศเหนือติดกับเทศบาลตำบลเกาะขนุน  อำเภอพนมสารคาม ทิศใต้ติดกับองค์การบริหารส่วนตำบลหัวสำโรง อำเภอแปลงยาว ทิศตะวันออกติดกับองค์การ-บริหารส่วนตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม และทิศตะวันตกติดกับองค์การบริหารส่วนตำบลหนองแหน  อำเภอพนมสารคาม มีถนนสายหลัก คือ ถนนทางหลวงหมายเลข 331 (กบินทร์บุรี-แปลงยาว) ผ่านหมู่ที่ 6, 7, 9, 12 และ 14 ถนนทางหลวงหมายเลข 304 (ฉะเชิงเทรา-กบินทร์บุรี) ผ่านหมู่ที่ 15 ถนนทางหลวงหมายเลข 3245 (พนมสารคาม-สนามชัยเขต) ผ่านหมู่ที่ 3, 4, 6 และ 7 ถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก ค.ส.ล. จำนวน 29 สาย ถนนลาดยางแอสฟัลท์ติกคอนกรีต จำนวน 64 สาย ถนนลูกรังหรือถนนหินคลุกจำนวน 137 สาย และถนนดิน จำนวน 12 สาย (องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะขนุน, 2564)

    3) แหล่งน้ำใช้และแหล่งน้ำที่สร้างขึ้น
    ตำบลเกาะขนุนมีแหล่งน้ำกิน น้ำใช้ หรือน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค จากคลองท่าลาด คลองลอยส่งน้ำจากเขื่อนสียัด คลองห้วยหินลาด สระน้ำหนองกรด ห้วยชำระกำ และคลองต่างๆ ภายในหมู่บ้าน มีน้ำประปาในหมู่บ้าน น้ำบาดาล และบ่อน้ำตื้น รวมถึงในบางหมู่บ้านมีการขยายเขตประปาส่วนภูมิภาค โดยสาขาพนม-สารคามเข้าใช้บริการแล้วบางส่วน ได้แก่ หมู่ที่ 3, 6,7 และ 8 (องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะขนุน, 2563) 

    4) สถาบันการศึกษา
    มีโรงเรียนในสังกัดรัฐบาลดังนี้ โรงเรียนระดับประถมศึกษา 8 แห่ง โรงเรียนระดับมัธยมศึกษา 1 แห่ง วิทยาลัยอาชีวศึกษา 1 แห่ง ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยตำบลเกาะขนุน (กศน.)      1 แห่ง ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 8 แห่ง และโรงเรียนในสังกัดเอกชน 2 แห่ง

    5) โครงสร้างพื้นฐาน/บริการสาธารณะ
    โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ 2 แห่ง สำนักงานองค์การบริหารส่วนตำบล 1 แห่ง สำนักงานเทศบาล   1 แห่ง มีวัด (มหานิกาย) 10 แห่ง

    6) สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ
    ในพื้นที่ตำบลเกาะขนุน มีแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ คือ วัดพงษาราม ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ของจังหวัดฉะเชิงเทรา มีหลวงพ่องามและหลวงพ่อจุ้ย เป็นที่เคารพสักการะทั้งในท้องถิ่นและผู้ที่ศรัทธาเลื่อมใสบริเวณพื้นที่ใกล้เคียง

    7) เกษตรกรต้นแบบและหมอดินอาสา 
    ตำบลเกาะขนุนเป็นพื้นที่ขยายผลของศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีเกษตรกรต้นแบบได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นหลักในการดำรงชีวิตและประกอบอาชีพ มีศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงด้านต่างๆ และมีหมอดินอาสาระดับหมู่บ้าน

    7.1) ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง (ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ, 2564)
         1) ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงด้านเกษตรผสมผสาน นายสมโชติ บุญมี บ้านเลขที่ 110   หมู่ที่ 5 ตำบลเกาะขนุน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา
         2) ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงด้านเกษตรผสมผสาน นางนภา เข็มมุข บ้านเลขที่ 32/1   หมู่ที่ 5 ตำบลเกาะขนุน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา
         3) ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงด้านเกษตรผสมผสาน นางทรัพย์ถวิล สุขศิริ บ้านเลขที่ 169/3 หมู่ที่ 10 ตำบลเกาะขนุน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา และเป็นหมอดินอาสาระดับหมู่บ้าน หมู่ที่ 10
         4) ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงด้านการเลี้ยงกบ นายสำเริง วงษ์สุรินทร์ บ้านเลขที่ 364   หมู่ที่ 13 ตำบลเกาะขนุน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา

    7.2) เกษตรกรต้นแบบ (ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ, 2564)
         1) นางสกลสุภา สมาน เกษตรกรต้นแบบด้านเกษตรทฤษฎีใหม่ และเป็นหมอดินอาสาระดับหมู่บ้าน หมู่ที่ 4 บ้านเลขที่ 402 หมู่ที่ 4 ตำบลเกาะขนุน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา
         2) นางชลชญา ชาญรวินทร์ เกษตรกรต้นแบบด้านวนเกษตร บ้านเลขที่ 92/2 หมู่ที่ 6 ตำบลเกาะขนุน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา
         3) นางบุญพอ เอี่ยมปา เกษตรกรต้นแบบด้านการปลูกฝรั่งอินทรีย์ บ้านเลขที่ 364 หมู่ที่ 7 ตำบลเกาะขนุน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา
         4) นายจมินทร์ ณีวงศ์ เกษตรกรต้นแบบด้านเกษตรทฤษฎีใหม่ บ้านเลขที่ 5/1 หมู่ที่ 9 ตำบลเกาะขนุน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา
         5) นายสถาพร วันเทวิน เกษตรกรต้นแบบด้านเกษตรผสมผสานและการเลี้ยงไส้เดือน และเป็นหมอดินอาสาระดับหมู่บ้าน หมู่ที่ 11 บ้านเลขที่ 139 หมู่ที่ 11 ตำบลเกาะขนุน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา
         6) นายชลิต ชื่นทรวง เกษตรกรต้นแบบด้านการปลูกอินทผาลัม บ้านเลขที่ 118/8 หมู่ที่ 11 ตำบลเกาะขนุน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา
         7) นางแฉล้ม บุญสวัสดิ์ เกษตรกรต้นแบบด้านเกษตรทฤษฎีใหม่ บ้านเลขที่ 404 หมู่ที่ 12 ตำบลเกาะขนุน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา
         8) นายจำรัส สุริวงษ์ เกษตรกรต้นแบบด้านการทำข้าวอินทรีย์ บ้านเลขที่ 403/1 หมู่ที่ 12 ตำบลเกาะขนุน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา
         9) นางอภิญญา น้ำเหนือ เกษตรกรต้นแบบด้านเกษตรผสมผสาน บ้านเลขที่ 108 หมู่ที่ 12 ตำบลเกาะขนุน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา
         10) นายไพบูรณ์ วันทะนะ เกษตรกรต้นแบบด้านเกษตรทฤษฎีใหม่ และเป็นหมอดินอาสาระดับหมู่บ้าน หมู่ที่ 14 บ้านเลขที่ 16 หมู่ที่ 14 ตำบลเกาะขนุน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา
         11) นายราษฎร์ นิวัตร เกษตรกรต้นแบบด้านการปลูกอินทผาลัม บ้านเลขที่ 308 หมู่ที่ 12ตำบลเกาะขนุน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา

    7.3) หมอดินอาสา (สถานีพัฒนาที่ดิน จังหวัดฉะเชิงเทรา, 2563)
         1) หมอดินอาสาในตำบลเกาะขนุนมีดังนี้
         2) นายพิชจ์ณัฐฎ์ พลายด้วง   หมอดินอาสาระดับตำบลและหมู่บ้าน หมู่ที่ 12
         3) นายมงคล ต่อมสุวรรณ หมอดินอาสาระดับหมู่บ้าน หมู่ที่ 2
         4) นางรัตนากร สิริอาจคงหาญ หมอดินอาสาระดับหมู่บ้าน หมู่ที่ 3
         5) นายณรงค์ จินดาพร หมอดินอาสาระดับหมู่บ้าน หมู่ที่ 5
         6) นายจรัญ คำแก้ว หมอดินอาสาระดับหมู่บ้าน หมู่ที่ 6
         7) นายสมชาติ นิลศิริ หมอดินอาสาระดับหมู่บ้าน หมู่ที่ 7
         8) นายชอบ ทิพรัตน์ หมอดินอาสาระดับหมู่บ้าน หมู่ที่ 8
         9) นายมนัส บุตรบุญเรือง หมอดินอาสาระดับหมู่บ้าน หมู่ที่ 9
         10) นายสมรัก   เข็มทอง หมอดินอาสาระดับหมู่บ้าน หมู่ที่ 13
         11) นางจำปา แซ่ตั้น หมอดินอาสาระดับหมู่บ้าน หมู่ที่ 15

    8) การถือครองที่ดินเพื่อการเกษตร 
    กรมส่งเสริมการเกษตร ปี 2562 ได้ดำเนินการสำรวจพื้นที่ถือครองที่ดินตามที่ตั้งแปลงของครัวเรือนเกษตรกรที่แจ้งปรับปรุงกิจกรรมการเกษตรในแต่ละปีของตำบลเกาะขนุน พบว่ามีครัวเรือนเกษตรกรจำนวน 896 ครัวเรือน พื้นที่ถือครอง 15,894 ไร่ หรือพื้นที่ถือครองเฉลี่ย 15.20 ไร่ต่อครัวเรือน โดยลักษณะการถือครองที่ดินของเกษตรกรจะมีทั้งเป็นเจ้าของพื้นที่เอง เช่า และพื้นที่สาธารณะประโยชน์หรือทำฟรี           (กรมส่งเสริมการเกษตร, 2562)

    9) ลักษณะทางเศรษฐกิจ
    ตำบลเกาะขนุนแบ่งเขตการปกครองเป็น 2 ส่วน ดังนี้

    – สภาพเศรษฐกิจของเขตการปกครองเทศบาลตำบลเกาะขนุน ประชากรส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพค้าขาย รองลงมาเป็นอาชีพรับจ้างทั่วไป อาชีพอื่นๆ พนักงานบริษัท ธุรกิจส่วนตัว พนักงานรับราชการและรัฐวิสาหกิจ และการเกษตร ตามลำดับ (กรมการพัฒนาชุมชน, 2562) เนื่องจากเทศบาลตำบลเกาะขนุนเป็นชุมชนที่อยู่ริมน้ำและภายในเทศบาลมีท่าน้ำหลายแห่งจึงเหมาะสำหรับการค้าขาย ในส่วนอาชีพการเกษตร ประชากรโดยส่วนมากจะทำสวน ปลูกมันสำปะหลัง ปลูกข้าว ประมง และปศุสัตว์ โดยมีการเลี้ยงสัตว์ไว้เพื่อบริโภคภายในครัวเรือน ได้แก่ เป็ด ไก่

    – สภาพเศรษฐกิจของเขตการปกครององค์การบริการส่วนตำบลเกาะขนุน ประชากรส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป รองลงมาเป็นอาชีพการเกษตร พนักงานบริษัท ค้าขาย อาชีพอื่นๆ พนักงาน     รับราชการและรัฐวิสาหกิจ และธุรกิจส่วนตัว ตามลำดับ (กรมการพัฒนาชุมชน, 2562) ซึ่งพื้นที่ส่วนมากของตำบลเกาะขนุนเป็นพื้นที่สำหรับการเกษตร มีแหล่งน้ำธรรมชาติหลายแห่งเพื่อใช้สำหรับการอุปโภค บริโภคในครัวเรือน รวมถึงใช้เพื่อการเกษตร โดยประชากรส่วนมากจะทำนา ทำไร่ ทำสวน เลี้ยงสัตว์ และประมง 

    ในตำบลเกาะขนุนพื้นที่ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นพื้นที่ราบสูงและราบลุ่ม มีสภาพภูมิอากาศแบบร้อนชื้น ทำให้เหมาะสำหรับการทำเกษตรกรรม เกษตรกรส่วนใหญ่ในตำบลเกาะขนุนจะมีการทำนา การปลูกพืชไร่ การปลูกพืชอายุสั้น และการเลี้ยงสัตว์ในตำบลเกาะขนุนมีการเลี้ยงสัตว์หลายประเภท ได้แก่ กระบือ โค สุกร ไก่ เป็ด และกบ 

    9.1) การประกอบอาชีพ
    จากข้อมูลกรมการพัฒนาชุมชน (จปฐ.) ปี 2562 พบว่า ประชากรในตำบลเกาะขนุน จะประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป รองลงมาคืออาชีพการเกษตร และค้าขาย ตามลำดับ โดยตำบลเกาะขนุนมีพื้นที่เป็นที่   ราบสูงและราบลุ่มเหมาะสำหรับการทำการเกษตร โดยประชากรส่วนใหญ่จะทำนา ทำไร่ ทำสวน ประมง และปศุสัตว์ มีอาชีพเสริม เช่น การทำพวงหรีดและดอกไม้จันทน์ของชมรมผู้สูงอายุภายในตำบลเกาะขนุน กลุ่มตัดเย็บและเขียนภาพเส้นทอง (หมู่ที่ 9 บ้านหนองปรือ) อีกทั้งยังมีการปลูกพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ ข้าวนาปี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน ปาล์มน้ำมัน และยางพารา (กรมส่งเสริมการเกษตร, 2562)

    9.1.1) อาชีพทำเกษตรกรรม ได้แก่ การปลูกข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ด้านอาชีพประมง ได้แก่ การเลี้ยงกบ ปลากินพืช และกุ้งขาว อาชีพการเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ กระบือ โค สุกร เป็ด ไก่ กบ ซึ่งเลี้ยงในจำนวนไม่มาก ส่วนรายใหญ่ๆ มีจำนวน 16 แห่ง แบ่งเป็น ฟาร์มเลี้ยงหมู 6 แห่ง ฟาร์มเลี้ยงไก่ 10 แห่ง

    (องค์การบริการส่วนตำบลเกาะขนุน, 2561)

    9.1.2) ด้านอุตสาหกรรม จากข้อมูลภาษีโรงเรือนและที่ดินขององค์การบริหารส่วนตำบลเกาะขนุน ปี 2559 มีสถานประกอบการอุตสาหกรรม จำนวน 22 แห่ง (องค์การบริการส่วนตำบลเกาะขนุน, 2561)

    9.2) ด้านแรงงาน
    ในตำบลเกาะขนุนมีทั้งแรงงานคนไทยและคนงานต่างด้าวมาพักอาศัยและทำงานโรงงานในเขตอุตสาหกรรมที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง โดยการเดินทางมีบริการรถรับ-ส่งของบริษัทต่างๆ ผ่านภายในตำบล แรงงานส่วนใหญ่จะมาพักอาศัยตามห้องเช่าหรือบ้านเช่า

    9.3) ด้านแหล่งน้ำทางการเกษตร
    ตำบลเกาะขนุนมีแหล่งน้ำธรรมชาติสายหลักที่ไหลผ่านภายในตำบลตลอดปี คือ คลองท่าลาด หนองโพรง หนองตาเมือง คลองล้อม และคลองต่างๆ ภายในหมู่บ้าน ที่ใช้สำหรับผลิตน้ำเพื่อการเกษตร

    9.4 รายได้-รายจ่าย
    จากข้อมูลกรมการพัฒนาชุมชน (จปฐ.) ปี 2562 พบว่า รายได้เฉลี่ยของประชากรในตำบล   เกาะขนุน มีรายได้ครัวเรือนเฉลี่ย 177,922.96 บาทต่อปี รายจ่ายครัวเรือนเฉลี่ย 162,303.70 บาทต่อปี รายได้บุคคลเฉลี่ย 77,233.44 บาทต่อปี รายจ่ายบุคคลเฉลี่ย 70,453.38 บาทต่อปี โดยรายได้ครัวเรือนจะมากกว่ารายจ่ายครัวเรือนปีละ 15,619.26 บาท และรายได้บุคคลมากกว่ารายจ่ายบุคคลปีละ 6,780.06 บาท
    (กรมการพัฒนาชุมชน, 2562) 

    ตำบลเกาะขนุน