More

    ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

    ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
              ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้รับการสถาปนาจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ.2522 ในคราวเสด็จพระราชดำเนินมาเปิดศาลพระบวรราชานุสาวรีย์ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ณ ที่นั้น ราษฎร 7 ราย ได้น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินบริเวณหมู่ 2 ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา จำนวน 264 ไร่ เพื่อต้องการให้สร้างพระตำหนัก ด้วยเห็นว่าพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จไปที่ไหนก็พยายามที่จะพัฒนาทำให้ที่ดินเจริญขึ้น เนื่องจากผืนดินเสื่อมโทรมไม่สามารถทำการเกษตรได้ ดังพระราชดำรัส ประวัติมีว่า

    “…ตอนแรกมีที่ดิน 264 ไร่ ที่ผู้ใหญ่บ้านให้เพื่อสร้างพระตำหนักในปี พ.ศ. 2522 ที่เชิงเขาหินซ้อนใกล้วัดเขาหินซ้อน ตอนแรกก็ต้องค้นคว้าว่าที่ตรงนั้นคือตรงไหน ก็พยายามสืบถาม ก็ได้พบบนแผนที่พอดีอยู่มุมบนของระวางของแผนที่ จึงต้องต่อแผนที่ 4 ระวาง สำหรับให้ได้ทราบว่าสถานที่ตรงนั้น อยู่ตรงไหน ก็เลยถามผู้ที่ให้นั้นนะ ถ้าหากไม่สร้างตำหนัก แต่ว่าสร้างเป็นสถานที่จะศึกษาเกี่ยวกับการเกษตรจะเอาไหม เขาก็บอกยินดีก็เลยเริ่มทำในที่นั้น…

    ต่อมาราษฎรได้น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินเพิ่มเติมอีก 497 ไร่ ผนวกกับที่ดินบริเวณสวนรุกขชาติและสวนพฤกษศาสตร์ และได้ทรงซื้อที่ดินที่อยู่ติดกับศูนย์ฯ เพิ่มเติมเพื่อจัดทำโครงการพัฒนาส่วนพระองค์เขาหินซ้อน เนื้อที่ 655 ไร่ รวมเนื้อที่ทั้งหมดของศูนย์ 1,895 ไร่ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ชื่อว่า “ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” นับเป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมากจากพะราชดำริแห่งแรกในจำนวน 6 ศูนย์ทั้งประเทศ

    ที่ตั้งและอาณาเขต
    ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ห่างจากกรุงเทพฯ 132 กิโลเมตรมาทางทิศตะวันออก บนฝั่งขวาของถนนสายฉะเชิงเทรา – กบินทร์บุรี (ทางหลวงแผ่นดินสาย 304 บริเวณ กม.ที่ 51-52) ห่างจากอำเภอพนมสารคาม 17 กิโลเมตร พื้นที่ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ จำนวน 1,240 ไร่ และเป็นพื้นที่โครงการพัฒนาส่วนพระองค์เขาหินซ้อน เนื้อที่ 655 ไร่ รวมพื้นที่ทั้งหมดของศูนย์ฯ 1,895 ไร่ (แผนที่ที่ 1)

    ทิศเหนือ จดถนนสายฉะเชิงเทรา-กบินทร์บุรี สวนรุกขชาติสมเด็จพระปิ่นเกล้าเขาหินซ้อน
    และวัดเขาหินซ้อนนันทวัฒนาราม

    ทิศตะวันออก จดที่ดินของเอกชนห่างจากทางสาธารณะตลาดแผ่นดินทองไปชำป่างาม
    ประมาณ 600 เมตร ส่วนตอนล่างของพื้นที่สำรวจจดห้วยสำโรงใต้

    ทิศตะวันตก จดที่ดินของเอกชนตามหมุดหลักเขตของโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขา
    หินซ้อนฯ ทางด้านทิศตะวันตก

    ทิศใต้ จดห้วยน้ำโจนและที่ดินของเอกชนตามหมุดหลักเขตของโครงการศูนย์ศึกษา
    การพัฒนาเขาหินซ้อนฯ ทางด้านทิศใต้ 

    สภาพภูมิประเทศ
    สภาพพื้นที่ของโครงการส่วนใหญ่เป็นที่ดอน (ภาพที่ 2, 3 และ แผนที่ที่ 2) มีลักษณะเป็นลูกคลื่นลอนลาดเล็กน้อย (gentle undulating) มีความลาดชันส่วนใหญ่ประมาณ 2-5% มีบริเวณที่ลูกคลื่นลอนลาด ที่มีความลาดชัน 5-8% เป็นบางส่วน ส่วนบริเวณแคบ ๆ ริมห้วยน้ำโจน และคลองท่าลาด จะมีสภาพค่อนข้างราบเรียบ มีความลาดชัน 0-2% มีเนินเขาโดดอยู่ทางทิศเหนือของพื้นที่ มีทิศทางการลาดเทต่ำลงมาสู่ตอนกลางของพื้นที่ ซึ่งเป็นบริเวณห้วย โดยมีห้วยน้ำโจนไหลผ่านบริเวณตอนกลางของพื้นที่จากทิศตะวันออกไปทางทิศตะวันตก และบรรจบกับคลองหนองผักบุ้งที่ไหลจากทิศเหนือลงมาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้บรรจบกับห้วยน้ำโจน บริเวณบ้านดอนขี้เหล็ก แล้วไหลลงสู่คลองท่าลาดพื้นที่ใกล้ๆ ลำห้วยจะมีสภาพพื้นที่ค่อนข้างราบเรียบ (nearly flat) (ผลและแผนงานปฏิบัติการขยายผลสู่พื้นที่เกษตรกรรม ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ปี 2530-2549, 2546) 

    ลักษณะพื้นที่และลักษณะทางธรณีสัณฐานในบริเวณศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

    สภาพภูมิประเทศและธรณีสัณฐานของศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

    ลักษณะภูมิประเทศในบริเวณศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ

    สภาพภูมิอากาศ
    ฤดูร้อน มีอากาศร้อนอบอ้าวและอากาศร้อนจัดเป็นบางวัน บางครั้งอาจมีพายุฤดูร้อนลักษณะเป็นฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 35-38 องศาเซลเซียส  

    ฤดูฝน มีลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุม ประกอบกับมีร่องความกดอากาศต่ำพาดผ่านภาคกลางและภาคตะวันออก ทำให้มีฝนฟ้าคะนองเกือบทั่วไปและตกหนักบางพื้นที่ ปริมาณฝนเฉลี่ย 1,200-1,400 มิลลิเมตรต่อปี 

    ฤดูหนาว มีลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุม ประกอบกับบริเวณความกดอากาศสูงพาดผ่านทำให้ท้องฟ้าโปร่งใส อากาศเย็น มีหมอกในตอนเช้า และมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 18-21 องศาเซลเซียส (ผลและแผนงานปฏิบัติการขยายผลสู่พื้นที่เกษตรกรรม ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ปี 2530-2549, 2546)

    อุทกวิทยาและแหล่งน้ำ
    แหล่งน้ำโดยทั่วๆ ไป ที่นำมาใช้ในการอุปโภคโดยเฉพาะในด้านการเกษตรมีแหล่งกำเนิดจาก 3 แหล่ง คือ
    (1) แหล่งน้ำจากอากาศ ได้แก่ ฝน ความชื้น เป็นต้น
    (2) แหล่งน้ำผิวดิน ได้แก่ น้ำในห้วย หนอง คลอง บึง แม่น้ำ และอ่างเก็บน้ำ
    (3) แหล่งน้ำใต้ดิน ได้แก่ น้ำบาดาล

    แหล่งน้ำของบริเวณโครงการนี้มีแหล่งน้ำหลักจาก 2 แหล่ง คือ 1) จากแหล่งน้ำฝนธรรมชาติ ซึ่งได้กล่าวไว้ในหัวข้อภูมิอากาศแล้ว และ 2) แหล่งน้ำผิวดิน ซึ่งในโครงการมีแหล่งน้ำผิวดินที่สำคัญอยู่ 2 แหล่ง คือ น้ำจากห้วย และน้ำจากอ่างเก็บน้ำในบริเวณลุ่มน้ำโจนและสาขา ซึ่งบริเวณพื้นที่ทางด้านทิศใต้ของโครงการนี้มีลำน้ำโจนไหลผ่านและมีลำห้วยเจ๊กซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของลำน้ำโจนไหลผ่านกลางพื้นที่ของโครงการ 

    ภายในพื้นที่โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ สามารถแบ่งประเภทของแหล่งน้ำต่าง ๆ ออกได้ดังนี้

    อ่างเก็บน้ำ มีอ่างเก็บน้ำทั้งสิ้น 5 แห่ง ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำลุ่มน้ำโจนแห่งที่ 10.1 (อ่างเก็บน้ำห้วยสำโรงเหนือตอนล่าง แห่งที่ 1) อ่างเก็บน้ำลุ่มน้ำโจนแห่งที่ 10.2 (อ่างเก็บน้ำห้วยสำโรงเหนือตอนล่าง แห่งที่ 2) อ่างเก็บน้ำลุ่มน้ำโจนแห่งที่ 12 (อ่างเก็บน้ำห้วยเจ๊ก) อ่างเก็บน้ำลุ่มน้ำโจนแห่งที่ 13 (อ่างเก็บน้ำห้วยแยก 1) และอ่างเก็บน้ำลุ่มน้ำโจนแห่งที่ 14 (อ่างเก็บน้ำห้วยแยก 2)

    บ่อน้ำ ส่วนมากเกิดจากการขุดเอาดินไปทำทำนบสร้างอ่างเก็บน้ำ และทำถนนบริเวณภายในโครงการของศูนย์ฯ นั่นเอง ซึ่งในฤดูฝนจะมีน้ำขังอยู่เป็นจำนวนมาก เมื่อถึงฤดูแล้งน้ำจะเหลือน้อยมาก บางแห่งไม่มีน้ำเหลืออยู่เลย มีทั้งสิ้นรวม 6 บ่อ อยู่บริเวณกรมปศุสัตว์ และ กรป. กลาง 2 บ่อ กรมพัฒนาที่ดิน 1 บ่อวิทยาลัยเกษตรกรรมฉะเชิงเทรา 1 บ่อ พื้นที่ที่เป็นของเอกชนภายในโครงการของศูนย์ฯ อีก 2 บ่อ

    สระเก็บน้ำ ได้ทำการขุดทั้งสิ้นในปัจจุบันนี้ มี 7 แห่ง ด้วยกัน แต่ละแห่งจะมีการทำคันดินรอบๆ สระเก็บน้ำ เพื่อให้สามารถเก็บน้ำได้ในปริมาณมาก บางสระก็มีการเทปูนซีเมนต์ข้างๆ ขอบรอบสระ บางแห่งก็ไม่มีการเทปูนซีเมนต์ และมีอยู่แห่งหนึ่งที่ใช้พลาสติกปูพื้นเพื่อทำเป็นสระเก็บน้ำเพื่อป้องกันการซึมของน้ำลงไปใต้ดิน

    ห้วย บริเวณที่ทำการสำรวจมีห้วยทั้งสิ้น 4 ห้วย ได้แก่ ห้วยน้ำโจน ห้วยสำโรงเหนือ ห้วยสำโรงใต้ และห้วยเจ๊ก ซึ่งห้วยเหล่านี้จะมีน้ำไหลในช่วงฤดูฝนเท่านั้น ส่วนในฤดูแล้งน้ำไม่ไหล และน้ำในห้วยจะแห้งเป็นส่วนใหญ่ มีบางตอนเท่านั้นที่ยังจะพอมีน้ำขังอยู่บ้างเล็กน้อย

    คลองส่งน้ำชลประทาน ซึ่งทำการส่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำ ไปยังพื้นที่ที่ทำการเกษตรกรรมภายในโครงการของศูนย์ฯ เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งมีทั้งสิ้นในปัจจุบันรวม 9 สาย

    ท่อส่งน้ำ ซึ่งทำการส่งน้ำไปตามท่อส่งน้ำที่ฝังไว้ใต้ผิวดิน จากอ่างเก็บน้ำห้วยสำโรงเหนือตอนบนแห่งที่ 8 ไปทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวาของห้วยสำโรงเหนือ และอ่างเก็บน้ำห้วยสำโรงเหนือตอนล่างไปยังพื้นที่ที่ทำการเกษตรกรรม แหล่งน้ำทั้งหมดในพื้นที่โครงการ ถึงแม้ว่าจะมีปริมาณค่อนข้างมาก แต่ในฤดูแล้งมักมีปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำและไม่สามารถนำมาใช้ปลูกพืชหรือทำการเกษตรได้

    สภาพทางน้ำและแหล่งน้ำบริเวณศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ

    แหล่งน้ำในบริเวณพื้นที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ

    สภาพดินและการใช้ประโยชน์
    สภาพพื้นที่ของศูนย์ฯ เขาหินซ้อนและหมู่บ้านบริวาร ส่วนใหญ่มีสภาพเป็นลูกคลื่นลอนลาดโดยตอนเหนือของโครงการเป็นที่ลาดเชิงเขาติดกับเขาหินซ้อน ซึ่งเป็นหินแกรนิตและเป็นวัตถุต้นกำเนิดดินซึ่งทำให้ดินบริเวณนี้มีอนุภาคของทรายปะปนอยู่เป็นส่วนใหญ่ อนุภาคของทรายที่เกิดจากหินแกรนิตมักมีอนุภาคเป็นทรายหยาบเป็นส่วนใหญ่
    ดินบริเวณพื้นที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน มีชุดดินที่พบ 3 ชุดดินหลัก ได้แก่ ดินคล้ายชุดดินมาบบอน  ชุดดินสัตหีบ และ ชุดดินโคกเคียน

    ปัญหาทรัพยากรดินที่พบในพื้นที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ดังนี้
    1) ดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ แบ่งออกเป็น 2 บริเวณ ได้แก่
    – ดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำในพื้นที่ลุ่ม ได้แก่ บริเวณที่จำแนกไว้เป็นชุดดินโคกเคียน สภาพพื้นที่ราบเรียบถึงค่อนข้างราบเรียบ มีความลาดชัน 0-2 เปอร์เซ็นต์

    – ดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำในพื้นที่ดอน ได้แก่ บริเวณที่จำแนกไว้เป็นชุดดินมาบบอน ดินคล้ายชุดดินมาบบอนแต่มีเนื้อดินเป็นดินร่วนหยาบ ดินคล้ายชุดดินมาบบอนแต่มีจุดประ ดินคล้ายชุดดินมาบบอนแต่มีเนื้อดินเป็นดินร่วนหยาบและมีจุดประ ดินคล้ายชุดดินมาบบอนแต่มีเนื้อดินเป็นดินเหนียว สภาพพื้นที่ค่อนข้างราบเรียบถึงลูกคลื่นลอนลาดเล็กน้อย มีความลาดชัน 1-5 เปอร์เซ็นต์

    2) ดินทรายจัด ได้แก่ บริเวณที่จำแนกไว้ เป็นชุดดินสัตหีบ สภาพพื้นที่ค่อนข้างราบเรียบถึงลูกคลื่นลอนลาดเล็กน้อย มีความลาดชัน 1-5 เปอร์เซ็นต์

    3) ปัญหาการเสี่ยงต่อการชะล้างพังทลายของดิน มักพบในบริเวณพื้นที่ที่มีความลาดชัน 2-5 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะพื้นที่ที่ไม่มีการปลูกพืชคลุมดิน ไม่เป็นพื้นที่ป่า หรือไม่มีการอนุรักษ์ดินและน้ำที่เหมาะสม การชะล้างพังทลายของดินในศูนย์ฯ เกิดจากการกัดเซาะของน้ำเป็นหลัก 

    4) ที่ดินหินพื้นโผล่ ได้แก่ บริเวณรอบเขาหินซ้อน มีความลาดชัน 2-5 เปอร์เซ็นต์ เป็นพื้นที่ที่มีหินพื้นโผล่กระจายอยู่ทั่วไปบนผิวดิน ครอบคลุมเนื้อที่มากกว่า ร้อยละ 90 จึงไม่เหมาะสมในการที่จะนำมาใช้ในการเกษตร 

    5) พื้นที่สูงชัน ได้แก่ เขาหินซ้อน ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ป่าปลูก มีความลาดชันมากกว่า 35 เปอร์เซ็นต์ จากสภาพพื้นที่ที่มีความลาดชันสูง จึงยากต่อการจัดการดูแล รักษาสำหรับการทำการเกษตร ดังนั้น จึงไม่เหมาะสมในการที่จะนำมาใช้ในการเกษตร เพื่อรักษาไว้ซึ่งระบบนิเวศที่เหมาะสม

    สภาพการใช้ประโยชน์ที่ดินโดยทั่วไปของโครงการฯ ในอดีตมีสภาพเสื่อมโทรมเหมือนทะเลทราย ไม่สามารถทำการเกษตรได้ ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ เนื้อดินเป็นทราย มีการชะล้างพังทลายของดินสูง มีการปลูกพืชชนิดเดียว (มันสำปะหลัง) ติดต่อกันเป็นเวลานาน โดยไม่มีการปรับปรุงบำรุงดิน ผลผลิตพืชที่ได้รับต่ำ หลังจากนั้นการพัฒนาก็เริ่มต้นขึ้นตามแนวพระราชดำริต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการพัฒนาดิน น้ำ และป่าไม้ โดยทรงเริ่มจากการสำรวจสภาพปัญหาของพื้นที่ สร้างอ่างเก็บน้ำ เมื่อพัฒนาน้ำขึ้นมาบ้างแล้วก็เริ่มปลูกพืชไร่และเลี้ยงปลาในที่ลุ่ม ส่วนที่อยู่บนเนินก็เลี้ยงปศุสัตว์ ปลูกหญ้า ไม้ผล และป่าไม้ การเลี้ยงปศุสัตว์ ปลูกหญ้า และต้นไม้จะทำให้ดินมีคุณภาพดีขึ้นในที่สุดจะใช้ที่ดินได้ทั้งหมด จนกระทั่งในปัจจุบันสภาพดิน น้ำ และป่าไม้ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างมาก ทรัพยากรดิน น้ำและป่าไม้มีการเกื้อกูลกันจนเกิดความอุดมสมบูรณ์ จากเดิมที่พืชไม่สามารถเจริญเติบโตได้ ในปัจจุบันสามารถทำการเกษตรต่าง ๆ ได้ เช่น ปลูกข้าว พืชผัก พืชไร่ และไม้ผล เป็นต้น

    ข้อมูลทางเศรษฐกิจและสังคมของพื้นที่โครงการฯ
    พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระราชทานแนวทางการพัฒนาศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ให้เป็นศูนย์ตัวอย่างด้านเกษตรกรรมที่สมบูรณ์แบบทั้งการพัฒนาแหล่งน้ำ ฟื้นฟูสภาพป่า การพัฒนาดิน การวางแผนปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ โดยนำวิธีการที่ได้ผลมาแล้ว ถูกต้องประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุด มาให้เกษตรกรและผู้สนใจสามารถเข้ามาศึกษาเรียนรู้เพื่อพัฒนาอาชีพและพื้นที่ทำกิน นอกจากนั้นแล้วยังทรงพระราชทานแนวทางในการพัฒนาพื้นที่รอบศูนย์ศึกษาฯ บริเวณลุ่มน้ำโจนให้มีความเจริญขึ้น เป็นตัวอย่างแก่การพัฒนาพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป

    ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ ได้น้อมนำแนวพระราชดำริที่ทรงพระราชทานไว้ดังกล่าว ด้วยการขยายผลองค์ความรู้ที่ประสบผลสำเร็จถ่ายทอดสู่พื้นที่หมู่บ้านรอบศูนย์ฯ โดยกำหนดให้เป็นหมู่บ้านขยายผลรอบศูนย์ฯ ที่ครอบคลุมพื้นที่ จำนวน ๓ ตำบล ในอำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา (แผนที่ที่ 4 และ 5) ประกอบด้วย ตำบลเขาหินซ้อน ตำบลบ้านซ่อง และตำบลเกาะขนุน ซึ่งมีหมู่บ้านจำนวน ๔๓ หมู่บ้าน ๑๒,๔๐๓ ครัวเรือน

    เมื่อขยายผลองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ดำเนินการจนประสบความสำเร็จและเกษตรกรมีความมั่นคงและพร้อมที่จะเป็นแบบอย่างของความสำเร็จจากการขยายผลในพื้นที่ให้กับเกษตรกรหรือผู้สนใจได้เข้ามาศึกษาเยี่ยมชมต่อไป จึงได้จัดตั้งศูนย์เรียนรู้หมู่บ้านรอบศูนย์ฯ ภายใต้การดูแลของศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ ขึ้น

    พื้นที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ