More

    โครงการเฉลิมพระเกียรติฯ “60 พรรษา 60 หมู่บ้าน 6 ศูนย์ศึกษาฯสร้างคน สร้างป่า พัฒนาคุณภาพชีวิต”

    โครงการเฉลิมพระเกียรติฯ “60 พรรษา 60 หมู่บ้าน 6 ศูนย์ศึกษาฯสร้างคน สร้างป่า พัฒนาคุณภาพชีวิต”

    เนื่องในโอกาสมหามงคลที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระชนมายุ 60 พรรษา ในวันที่ 2 เมษายน 2558 สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ร่วมกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้กำหนดจัดทำโครงการเฉลิมพระเกียรติฯ “60 พรรษา 60 หมู่บ้าน 6 ศูนย์ศึกษาฯ สร้างคน สร้างป่า พัฒนาคุณภาพชีวิต” เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงอุทิศพระองค์ปฏิบัติพระราชกรณียกิจในหลายด้าน ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ด้วยความวิริยะอุตสาหะ และบังเกิดประโยชน์แก่ประชาชนและประเทศอย่างใหญ่หลวง โดยเฉพาะงานด้านพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ที่ทรงสืบสานนำหลักการพัฒนา การทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เป็นแนวทางการทรงงานของพระองค์ โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มเด็กและเยาวชนในด้านสุขภาพ อนามัย การศึกษา อาชีพ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่จะสร้างอนาคตของประเทศต่อไป และเพื่อขยายผลการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ไปสู่ประชาชนและชุมชน ดังที่ทรงพระดำรัสกับเจ้าหน้าที่ที่ติดตามเสด็จเสมอว่า…การสร้างคนสำคัญยิ่งกว่าการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกใดๆ….

    ดังนั้น โครงการเฉลิมพระเกียรติฯ ดังกล่าว ได้กำหนดให้มีกิจกรรมการขยายผลถ่ายทอดองค์ความรู้การพัฒนาตามแนวพระราชดำริของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทั้ง 6 ศูนย์ฯ สู่เยาวชนและประชาชนใน 60 หมู่บ้าน เพื่อสร้างแหล่งเรียนรู้ตามแนวพระราชดำริ โดยมุ่งเน้นกระบวนการพัฒนาอย่างต่อเนื่องทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อันจะนำไปสู่ความอยู่ดีกินดีในชุมชนที่ร่มเย็นเป็นสุขได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป 

    วัตถุประสงค์

    1. เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสฉลองพระชนมายุ
    5 รอบ 2 เมษายน 2558

    2. เผยแพร่ประชาสัมพันธ์การพัฒนาคุณภาพชีวิตตามแนวพระราชดำริ

    3. ส่งเสริมความรู้และขยายผลการพัฒนาคุณภาพชีวิต และการประกอบอาชีพเกษตรกรรมตามแนวพระราชดำริ ให้แก่เยาวชนและเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ

    4. ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและสร้างการมีส่วนร่วมในการปลูกป่าชุมชนตามแนวพระราชดำริ

    เป้าหมาย

    ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการเกษตรให้แก่เกษตรกรในจังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดนครนายก และจังหวัดสระแก้ว จำนวน 15 หมู่บ้าน ได้แก่

    1. บ้านคลองเตย หมู่ 21 ตำบลท่ากระดาน อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา
    2. บ้านโคกน้อย หมู่ 12 ตำบลหนองแหน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา
    3. บ้านป่าไร่  หมู่ 14 ตำบลหนองแหน  อำเภอพนมสารคาม  จังหวัดฉะเชิงเทรา
    4. บ้านแก่งใหญ่ หมู่ 12 ตำบลแก่งดินสอ อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี
    5. บ้านโนนหินผึ้ง หมู่ 5 ตำบลดงบัง อำเภอประจันตคาม จังหวัดปราจีนบุรี
    6. บ้านเนินผาสุข หมู่ 13 ตำบลดงขี้เหล็ก อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี
    7. บ้านบางสมบูรณ์ หมู่ 11 ตำบลบางสมบูรณ์ อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก
    8. บ้านวังบอน หมู่ 7 ตำบลหินลาด อำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก
    9. บ้านท่าผักชี หมู่ 6 ตำบลพระเพลิง อำเภอเขาฉกรรจ์ จังหวัดสระแก้ว
    10. บ้านการบินไทย หมู่ 9 ตำบลไทรเดี่ยว อำเภอคลองหาด จังหวัดสระแก้ว
    11. บ้านเขากล้วยไม้ หมู่ 14 ตำบลคลองตะเกรา อำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา
    12. บ้านหนองตาสา หมู่ 9 ตำบลวังดาล อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี
    13. บ้านสะพานหิน หมู่ 5 ตำบลสะพานหิน อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี
    14. บ้านหนองเรือ หมู่ 15 ตำบลบ้านทุ่งมหาเจริญ อำเภอวังน้ำเย็น จังหวัดสระแก้ว
    15. บ้านคลองอาราง หมู่ 16 ตำบลบ้านแก้ง อำเภอเมือง จังหวัดสระแก้ว

    การดำเนินงานด้านพัฒนาคุณภาพชีวิต

    1. ถ่ายทอดองค์ความรู้ในหลักสูตรที่เกษตรกรสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพและลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน โดยนำเกษตรกรมาฝึกอบรมที่ศูนย์ฯ และในบางหลักสูตรเจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ ไปให้การอบรมที่หมู่บ้านเป้าหมาย โดยมีหลักสูตรดังนี้ 

    – การผลิตปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ และสารควบคุมแมลงศัตรูพืช 

    – การผลิตของใช้ในครัวเรือน

    – การปลูกข้าวขาวดอกมะลิ 105 ในระบบเกษตรยั่งยืน 

    – การเลี้ยงไก่ไข่พันธุ์เขาหินซ้อน 

    – การเพาะเห็ดเศรษฐกิจแบบครบวงจร

    – การปลูกมะนาวนอกฤดูในวงบ่อซีเมนต์.

    – การผลิตและแปรรูปสมุนไพร

    – การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร 

    2. ออกตรวจเยี่ยม ณ บ้านเกษตรกรในหมู่บ้านเป้าหมาย เพื่อติดตามความก้าวหน้าและปัญหาใน
    การดำเนินโครงการ

    การดำเนินงานด้านพัฒนาป่าไม้

    1. ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้

    2. สร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ป่าไม้

    3. ร่วมกับชุมชนปลูกป่า