
1. ต้นพระศรีมหาโพธิ์
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงปลูกต้นโพศรีมหาโพธิ์ ต้นไม้ต้นแรกที่หยั่งรากลงในพื้นที่ อันเป็นสัญลักษณ์แห่งการฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2523

2. ห้วยเจ๊ก
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระราชทานเงินที่ราษฎรน้อมเกล้าฯ ถวายคราวเสด็จศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ครั้งแรก เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2522 โปรดให้จัดสร้างอ่างเก็บน้ำบนพื้นที่ซึ่งเดิมเคยเป็นที่ดินปลูกผักของเจ๊ก เริ่มก่อสร้าง วันที่ 15 พฤศจิกายน 2522

3. สวนป่าสมุนไพรเขาหินซ้อน
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตเมื่อปี พ.ศ. 2523 ให้จัดตั้งสวนป่าสมุนไพรเขาหินซ้อน บริเวณสวนพฤกษศาสตร์ภาคตะวันออก (เขาหินซ้อน)

4. ศาลาเทิดพระเกียรติ
จังหวัดฉะเชิงเทราสร้างถวายเพื่อเป็นศาลาทรงงานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร คราวเสด็จศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2522

5. พระตำหนักสามจั่ว
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างบ้านพักรับรองเป็นบ้านไม้สองชั้นมีใต้ถุนทรงสูง ทรงออกแบบด้วยพระองค์เอง ให้ชื่อว่า “บ้านสามจั่ว” ก่อสร้างโดย บริษัทศรีมหาราชา จำกัด เมื่อปี พ.ศ. 2525

6. พลับพลาพระราม
ราษฎรชาวอำเภอพนสารคามสร้างถวายพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อเป็นอาคารรับเสด็จฯ ทรงเรียกว่า “พลับพลาพระราม”

7. โรงสีข้าวพระราชทาน
บริษัทซาทาเก้ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ประเทศญี่ปุ่น น้อมเกล้าฯ ถวายเครื่องสีข้าวทาซาเก้ รุ่น 1070 เมื่อปี พ.ศ. 2526 ทรงพระราชทานให้ติดตั้งที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เริ่มให้บริการสีข้าวแก่ราษฎร เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2527

8. หญ้าแฝก
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำริ เรื่องหญ้าแฝกเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2534 ความว่า “…ให้ศึกษาทดลองการปลูกหญ้าแฝกเพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดินในพื้นที่ของศูนย์ศึกษาการพัฒนา และพื้นที่อื่นๆ ที่เหมาะสมอย่างกว้างขวางโดยเฉพาะศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริและศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ…”

9. ทฤษฎีใหม่
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระราชทานแนวทางการจัดการที่ดินและน้ำสำหรับการทำการเกษตรในพื้นที่ถือครองขนาดเล็กเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีการจัดแบ่งที่ดินเป็นสัดส่วนวางแผนการเพาะปลูกพืช และคำนวณน้ำกักเก็บให้เพียงพอใช้ เกษตรกรไทยมีพื้นที่ถือครองเฉลี่ยครอบครัวละ 10-15 ไร่ ให้แบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ส่วน แหล่งน้ำ : นาข้าว : พืชผสมผสาน : โครงสร้างพื้นฐาน : อัตราส่วน 30 : 30 : 30 : 10
