More

    หมู่บ้านขยายผล รอบศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลบ้านซ่อง

    ที่ตั้งและอาณาเขต
    ตำบลบ้านซ่อง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของอำเภอพนมสารคาม อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอพนมสารคามไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 319 (พนมสารคาม-ปราจีนบุรี) เป็นระยะทาง 14 กม. มีเนื้อที่ประมาณ 43,052 ไร่ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มเหมาะแก่การเพาะปลูกดังรูปที่ 2-1

    ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลโคกไทย อำเภอศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี
    ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลท่าถ่าน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา
    ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา
    ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตำบลหนองยาว อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา
    (สำนักงานเทศบาลตำบลบ้านซ่อง, 2560)

    การแบ่งส่วนการปกครอง
    ตำบลบ้านซ่อง อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา แบ่งส่วนการปกครองออกเป็น 14 หมู่บ้าน ดังนี้
    หมู่ที่ 1 บ้านซ่อง   หมู่ที่ 8 บ้านไร่  
    หมู่ที่ 2 บ้านแถวธาร  หมู่ที่ 9 บ้านหนองน้ำพุ   
    หมู่ที่ 3 บ้านหนองหว้า หมู่ที่ 10 บ้านหัวกระสังข์    
    หมู่ที่ 4 บ้านต้นสำโรง หมู่ที่ 11 บ้านหนองตารอด
    หมู่ที่ 5 บ้านหัวกระสังข์  หมู่ที่ 12 บ้านห้วยปลีก    
    หมู่ที่ 6 บ้านหัวกระพี้ หมู่ที่ 13 บ้านหนองสองห้อง   
    หมู่ที่ 7 บ้านธารพูด   หมู่ที่ 14 บ้านเกาะสุวรรณ
    ที่มา : (สำนักงานเทศบาลตำบลบ้านซ่อง, 2560)

    ประวัติและเอกลักษณ์
    นานเดิม บ้านซ่องนั้น คนรู้จักกันทุกถิ่นฐาน เป็นช่องทางพ่อค้าโค กระบือ งานจากอีสานสู่พนัส-ชลบุรี และเป็นเกียรติแด่กำนันของบ้านซ่อง ชื่อ ขุนซ่องคนแรก ตำบลนี้ประชาชนอยู่สุขสบายดีมี 14 หมู่ ดูน่าชม จึงใช้ชื่อตำบล บ้านซ่องเป็นต้นมา

    ประชาชนในตำบลบ้านซ่องมีหลายเชื้อสาย ส่วนใหญ่ใช้ภาษาไทยในการสื่อสารมีบางส่วนที่ใช้ภาษาพวนคือ ประชากรในหมู่ 5 และหมู่ 10 แต่ทุกคนรู้จักภาษาไทย และอ่านออก เขียนได้ ประชาชนในตำบลมีหลายเชื้อสายก็จริง แต่ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ประเพณีและวัฒนธรรมจึงเหมือนกับชาวพุทธทั่วไป แต่ในกลุ่มชนเชื้อสายไทยพวนมีประเพณีที่ปฏิบัติกันเป็นประจำคือ ประเพณีบุญกลางเดือน 3 โดยจะกระทำในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ซึ่งตรงกับเดือนกุภาพันธ์ของทุกปี มีการทำบุญด้วยข้าวหลาม ส่วนประเพณีคนจีน คือการไหว้เจ้าและบรรพบุรุษ หรือตรุษจีนสารทจีน นั้น ประชาชนก็จะทำกันทุกครัวเรือน (สำนักงานเทศบาลตำบลบ้านซ่อง, 2560)

    สภาพภูมิประเทศ
    ลักษณะสภาพพื้นที่ตำบลบ้านซ่องส่วนใหญ่จะเป็นที่ราบลุ่ม และที่ราบลูกฟูกเชิงเขาลาดจากตอนตะวันออกเฉียงใต้มายังด้านตะวันตกเฉียงเหนือ และทางด้านตะวันตกของตำบลพื้นที่มีความลาดชันประมาณ 2% มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 10-40 เมตร ดินมีความอุดมสมบูรณ์ปานกลาง มีการระบายน้ำดี สภาพพื้นที่เหมาะสำหรับทำการเกษตรประมาณร้อยละ 95 ของพื้นที่ทั้งหมด (สำนักงานเทศบาลตำบลบ้านซ่อง, 2560)

    ที่ตั้งและอาณาเขต ตำบลบ้านซ่อง อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา

    ความลาดชัน ตำบลบ้านซ่อง อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา

    สภาพภูมิอากาศ
    อยู่ภายใต้อิทธิพลของมรสุมที่พัดปกคลุมประเทศไทย 2 ชนิด คือ มรสุม ตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งลมนี้เป็นลมที่พัดพาความหนาวเย็นจากประเทศจีนมาสู่ประเทศไทยในช่วงฤดูหนาว อิทธิพลของลมนี้จะทําให้จังหวัดฉะเชิงเทราประสบกับสภาวะอากาศหนาวเย็นและแห้งแล้ง กับมรสุมตะวันตก เฉียงใต้ ซึ่งพัดปกคลุมในช่วงฤดูฝนซึ่งทําให้อากาศชุ่มชื้นและมีฝนทั่วไป

    ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่กลางเดือนตุลาคมถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ ฤดูร้อน เริ่มประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์และสิ้นสุดประมาณกลางเดือนพฤษภาคม ฤดูฝน เริ่มประมาณกลางเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนตุลาคม 

    มีอุณหภูมิเฉลี่ยตลอดทั้งปี 27.9 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 33.0 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย 22.8 องศาเซลเซียส

    เส้นชั้นน้ำฝน ตำบลบ้านซ่อง อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา

    สภาพการใช้ที่ดินในปัจจุบัน
    สภาพการใช้ที่ดินตำบลบ้านซ่อง อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งสำรวจโดยกลุ่มวิเคราะห์สภาพการใช้ที่ดิน (2564) ประกอบด้วย ประเภทการใช้ที่ดินต่างๆ ดังนี้
    1) พื้นที่ชุมชนและสิ่งปลูกสร้าง มีเนื้อที่ 4,531 ไร่ หรือร้อยละ 12.73 ของพื้นที่ตำบล
    2) พื้นที่เกษตรกรรม มีเนื้อที่ 29,671 ไร่ หรือร้อยละ 83.38 ของพื้นที่ตำบล ประกอบด้วย การใช้ประโยชน์ที่ดินด้านเกษตรกรรมต่างๆ ดังต่อไปนี้
    2.1) พื้นที่นา มีเนื้อที่ 18,809 ไร่ หรือร้อยละ 52.86 ของพื้นที่ตำบล ได้แก่ นาร้าง มีเนื้อที่ 230 ไร่หรือร้อยละ  0.65 นาข้าว มีเนื้อที่  18,579 ไร่ หรือร้อยละ 52.21
    2.2) พืชไร่ มีเนื้อที่ 4,093 ไร่ หรือร้อยละ 11.50 ของพื้นที่ตำบล ได้แก่ ไร่ร้าง ข้าวโพด มันสำปะหลัง สับปะรด ถั่วเหลือง
    2.3) ไม้ยืนต้น มีเนื้อที่ 3,251 ไร่ หรือร้อยละ 9.13 ของพื้นที่ตำบล ได้แก่ ไม้ยืนต้นผสม ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ยูคาลิปตัส สนประดิพัทธ์ กระถิน และไผ่ปลูกเพื่อการค้า 
    2.4) ไม้ผล มีเนื้อที่ 693 ไร่ หรือร้อยละ 1.95 ของพื้นที่ตำบล ได้แก่ ไม้ผลร้าง/เสื่อมโทรม ไม้ผลผสม มะพร้าว มะม่วง มะม่วงหิมพานต์ กล้วย มะขาม ขนุน ส้มโอ มะปราง/มะยงชิด
    2.5) พืชสวน มีเนื้อที่ 13 ไร่ หรือร้อยละ 0.04 ของพื้นที่ตำบล ได้แก่ พืชผัก 
    2.6) ทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์และโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ มีเนื้อที่ 1,736 ไร่ หรือร้อยละ 4.88 ของพื้นที่ตำบล ได้แก่ โรงเรือนเลี้ยงสัตว์ปีก  และโรงเรือนเลี้ยงสุกร
    2.7)  สถานที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ มีเนื้อที่ 1,076 ไร่ หรือร้อยละ 3.02 ของพื้นที่ตำบล ได้แก่ สถานที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำร้าง และสถานที่เพาะเลี้ยงปลา 
    3) พื้นที่ป่าไม้ มีเนื้อที่ 140 ไร่ หรือร้อยละ 0.39 ของพื้นที่ตำบล ประกอบด้วย ป่าผลัดใบสมบูรณ์ 
    4) พื้นที่แหล่งน้ำ มีเนื้อที่ 460 ไร่ หรือร้อยละ 1.29 ของพื้นที่ตำบล ประกอบด้วย แม่น้ำ ลำห้วย ลำคลอง หนอง บึง ทะเลสาบ และบ่อน้ำไร่นา
    5) พื้นที่เบ็ดเตล็ด มีเนื้อที่ 786 ไร่ หรือร้อยละ 2.23 ของพื้นที่ตำบล ประกอบด้วย ทุ่งหญ้าธรรมชาติ ทุ่งหญ้าสลับไม้พุ่ม/ไม้ละเมาะ พื้นที่ลุ่ม เหมืองเก่า/บ่อขุดเก่า บ่อดิน และพื้นที่ถม 

    สภาพเศรษฐกิจและสังคม
    สภาพสังคมโดยทั่วไป

    1) ประชากร
    จากหลักฐานทะเบียนราษฎร์ของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี 2562 พบว่า ประชากรที่อาศัยในพื้นที่ตำบลบ้านซ่องมีประชากรรวม 10,192 ราย จำแนกเป็นชาย 4,914 ราย หญิง 5,238 ราย โดยประชากรส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 41-60 ปี มีจำนวนครัวเรือนทั้งหมด 3,750 ครัวเรือน (กรมการปกครอง, 2562) เป็นครัวเรือนเกษตรกรที่มาขึ้นทะเบียนกรมส่งเสริมการเกษตร 1,115 ครัวเรือน หรือร้อยละ 29.73 เป็นครัวเรือนที่ประกอบอาชีพอื่นๆ และครัวเรือนเกษตรกรที่ไม่ได้มาขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร 2,635 ครัวเรือน หรือร้อยละ 70.27 (กรมส่งเสริมการเกษตร, 2562)

    2) สภาพทั่วไป
    ตำบลบ้านซ่อง ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของจังหวัดฉะเชิงเทรา อยู่ห่างจากจังหวัดฉะเชิงเทราประมาณ 45 กิโลเมตร มีเนื้อที่ทั้งหมด 68.89 ตารางกิโลเมตร มีทิศเหนือติดกับเทศบาลตำบลโคกไทย อำเภอศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี ทิศใต้ติดกับตำบลท่าถ่าน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเมรา ทิศตะวันออกติดกับตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา และทิศตะวันตกติดกับตำบลหนองยาว อำเภอพนมสาร-คาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ด้านคมนาคมมีทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 319 (ถนนสายสุวินทวงศ์-ปราจีนบุรี)       1 สาย ผ่านตลอดทั้งตำบล มีถนนดิน ระยะทาง 6.32 กิโลเมตร ถนนลูกรัง ระยะทาง 59.97 กิโลเมตร ถนนคอนกรีต ระยะทาง 10.96 กิโลเมตร ถนนลาดยาง ระยะทาง 68.97 กิโลเมตร (องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านซ่อง, 2559)

    3) แหล่งน้ำใช้ในครัวเรือนและแหล่งน้ำที่สร้างขึ้น
    ตำบลบ้านซ่องมีแหล่งน้ำกิน น้ำใช้ หรือน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค จากแหล่งน้ำธรรมชาติ ได้แก่ คลองธารพูด หนองหว้า หนองหินดาษ หนองลาดปลาเค้า หนองคอกควาย หนองลำแม่แคร่ หนองสองตอน หนองหลวง และสระหนองใหญ่ จากแหล่งน้ำที่สร้างขึ้น ได้แก่ บ่อน้ำตื้น บ่อน้ำบาดาล บ่อเก็บน้ำฝน น้ำประปาในหมู่บ้าน และมีการขยายเขตประปาส่วนภูมิภาคจากอำเภอพนมสารคาม ผ่านถนนสาย 319 ตลอดสาย (องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านซ่อง, 2559) 

    4) สถาบันการศึกษา
    มีโรงเรียนในสังกัดรัฐบาลดังนี้ โรงเรียนระดับประถมศึกษา 4 แห่ง โรงเรียนระดับมัธยมศึกษา 2 แห่ง ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 5 แห่ง ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยตำบลบ้านซ่อง (กศน.) 1 แห่ง

    5) โครงสร้างพื้นฐาน/บริการสาธารณะ
    โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ 2 แห่ง สถานีอนามัย 2 แห่ง สำนักงานองค์การบริหารส่วนตำบล 1 แห่ง มีวัด (มหานิกาย) 8 แห่ง 

    6) สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ
    ในพื้นที่ตำบลบ้านซ่อง มีแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ คือ พิพิธภัณฑ์ไทยพวน บ้านหัวกระสังข์ ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านที่ได้จัดเก็บเครื่องมือ เครื่องใช้ และสิ่งของทางการเกษตรที่ไม่ได้ใช้แล้ว เพื่อเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมที่ใกล้จะสูญหายให้ผู้คนที่มีความสนใจเข้ามาศึกษาหาความรู้

    7) เกษตรกรต้นแบบและหมอดินอาสา 
    ตำบลบ้านซ่องเป็นพื้นที่ขยายผลของศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีเกษตรกรต้นแบบได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นหลักในการดำรงชีวิตและประกอบอาชีพ มีศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงด้านต่างๆ และมีหมอดินอาสาระดับหมู่บ้าน

    7.1) ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง (ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ, 2564)

    1) ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงด้านเกษตรผสมผสาน นางปราณี สังข์อ่อนดี บ้านเลขที่ 24 หมู่ที่ 5 ตำบลบ้านซ่อง อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา และเป็นหมอดินอาสาระดับหมู่บ้าน หมู่ที่ 5

    2) ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงด้านแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร นางเครือวรรณ จันทศรี บ้านเลขที่ 130 หมู่ที่ 6 ตำบลบ้านซ่อง อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา

    3) ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงด้านการเพาะเห็ดเศรษฐกิจ นายธงชาติ จันทศรี     บ้านเลขที่ 56/2 หมู่ที่ 6 ตำบลบ้านซ่อง อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา

    7.2) เกษตรกรต้นแบบ (ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ, 2564)
    1) นางเปรมจิตร ช้อยนิยม เกษตรกรต้นแบบด้านการปลูกผักอินทรีย์และการเลี้ยงไส้เดือน บ้านเลขที่ 223 หมู่ที่ 2 ตำบลบ้านซ่อง อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา
    2) นางสาววารินดา ประสงค์สุข เกษตรกรต้นแบบด้านเกษตรทฤษฎีใหม่ บ้านเลขที่ 8/3     หมู่ที่ 2 ตำบลบ้านซ่อง อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา
    3) นางลัษฎาวรรณ์ ศรีเกษม เกษตรกรต้นแบบด้านการแปรรูปสมุนไรและการผลิตข้าวอินทรีย์ บ้านเลขที่ 130/1 หมู่ที่ 6 ตำบลบ้านซ่อง อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา
    4) นางทะวี พูลสำราญ เกษตรกรต้นแบบด้านการสานกระเป๋าเชือกป่าน บ้านเลขที่ 132   หมู่ที่ 6 ตำบลบ้านซ่อง อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา
    5) นางระวีพลอย บุญชูสมบูรณ์ เกษตรกรต้นแบบด้านการเลี้ยงจิ้งหรีด บ้านเลขที่ 186     หมู่ที่ 9 ตำบลบ้านซ่อง อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา
    6) นางลัดดาวัลย์ อึ้งสวัสดิ์ เกษตรกรต้นแบบด้านการเลี้ยงเป็ดและการแปรรูปผลผลิต บ้านเลขที่ 186/1 หมู่ที่ 9 ตำบลบ้านซ่อง อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา
    7) นายสุนทร จันทร์เมือง เกษตรกรต้นแบบด้านเกษตรผสมผสาน และเป็นหมอดินอาสาระดับหมู่บ้าน หมู่ที่ 6 บ้านเลขที่ 436 หมู่ที่ 6 ตำบลบ้านซ่อง อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา 

    7.3) หมอดินอาสา (สถานีพัฒนาที่ดิน จังหวัดฉะเชิงเทรา, 2563)
    หมอดินอาสาในตำบลบ้านซ่องมีดังนี้

    1. นายณรงค์     พึ่งเกษม หมอดินอาสาระดับตำบลและหมู่บ้าน หมู่ที่ 4
    2. นายกิจติ   พึ่งเกษม หมอดินอาสาระดับหมู่บ้าน หมู่ที่ 1
    3. นางประคอง   วงษ์ไกร หมอดินอาสาระดับหมู่บ้าน หมู่ที่ 2
    4. นายสุริยา  โอสถานนท์ หมอดินอาสาระดับหมู่บ้าน หมู่ที่ 3
    5. นายวิชัย   ศรีเกษม หมอดินอาสาระดับหมู่บ้าน หมู่ที่ 7
    6. นายชาตรี   วิลาศรี หมอดินอาสาระดับหมู่บ้าน หมู่ที่ 8
    7. นายสำราญ    อินทศรี หมอดินอาสาระดับหมู่บ้าน หมู่ที่ 9
    8. นายเทียร สมวันดี หมอดินอาสาระดับหมู่บ้าน หมู่ที่ 10
    9. นางระเบียบ   โคเต็ม หมอดินอาสาระดับหมู่บ้าน หมู่ที่ 11
    10. นางสาวเกศกมล บุษดีวงศ์ หมอดินอาสาระดับหมู่บ้าน หมู่ที่ 12
    11. นายปาง   ยำพวา หมอดินอาสาระดับหมู่บ้าน หมู่ที่ 13
    12. นายสมบัติ   รัตนวงษ์ หมอดินอาสาระดับหมู่บ้าน หมู่ที่ 14

    8) การถือครองที่ดินเพื่อการเกษตร 
    กรมส่งเสริมการเกษตร ปี 2562 ได้ดำเนินการสำรวจพื้นที่ถือครองที่ดินตามที่ตั้งแปลงของครัวเรือนเกษตรกรที่แจ้งปรับปรุงกิจกรรมการเกษตรในแต่ละปีของตำบลบ้านซ่อง พบว่ามีครัวเรือนเกษตรกรจำนวน 1,161 ครัวเรือน พื้นที่ถือครอง 25,292 ไร่ หรือพื้นที่ถือครองเฉลี่ย 18.92 ไร่ต่อครัวเรือน โดยลักษณะการถือครองที่ดินของเกษตรกรจะมีทั้งเป็นเจ้าของพื้นที่เอง เช่า และพื้นที่สาธารณะประโยชน์หรือทำฟรี (กรมส่งเสริมการเกษตร, 2562) 

    9) ลักษณะทางเศรษฐกิจ
    เนื่องจากสภาพพื้นที่ของตำบลบ้านซ่องส่วนใหญ่จะเป็นที่ราบลุ่มและที่ราบลูกฟูกเชิงเขา ดินมีความอุดมสมบูรณ์ จึงทำให้เหมาะสำหรับทำการเกษตร โดยประชากรส่วนมากจะประกอบอาชีพทางด้านเกษตรกรรม สำหรับที่ลุ่มจะทำนาสลับกับการปลูกพืชไร่ และที่ราบสูงเกษตรกรส่วนใหญ่จะเพาะปลูก           มันสำปะหลัง ถั่วเหลือง ปลูกไม้ผลยืนต้น เช่น มะม่วง ขนุน มีการเลี้ยงสัตว์ เช่น สุกร เป็ด ไก่ นอกจากนี้ยังมีเขตโรงงานอุตสาหกรรมภายในหมู่บ้านที่ได้รับอนุญาตดำเนินการประกอบการจำนวน 20 แห่ง

    9.1) การประกอบอาชีพ
    จากข้อมูลกรมการพัฒนาชุมชน (จปฐ.) ปี 2562 พบว่า ประชากรในตำบลบ้านซ่องส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป รองลงมาเป็นอาชีพการเกษตร อาชีพอื่นๆ ค้าขาย พนักงานบริษัท ธุรกิจส่วนตัว พนักงานรับราชการและรัฐวิสาหกิจ ตามลำดับ มีอาชีพเสริม เช่น กลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้ามิตรสัมพันธ์ (หมู่ที่ 7 บ้านธารพูด) กลุ่มทำขนมทองม้วน (หมู่ที่ 7 บ้านธารพูด) อีกทั้งยังมีการปลูกพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ ข้าวนาปี มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (กรมส่งเสริมการเกษตร, 2562) 

    9.1.1) อาชีพทำเกษตรกรรม ได้แก่ การปลูกข้าว มันสำปะหลัง ถั่วเหลือง ไม้ผลยืนตัน เช่น มะม่วง ขนุน ประมง ได้แก่ ปลาน้ำจืด จระเข้ และกุ้ง อาชีพการเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ กระบือ สุกร เป็ด ไก่ โดยภายในพื้นที่ตำบลบ้านซ่องมีโรงเรือนปศุสัตว์ จำนวน 326 โรงเรือน แบ่งเป็น ฟาร์มเลี้ยงสุกร จำนวน 180 โรงเรือน และฟาร์มเลี้ยงไก่/เป็ด จำนวน 146 โรงเรือน (องค์การบริการส่วนตำบลบ้านซ่อง, 2559)

    9.1.2) ด้านอุตสาหกรรม จากข้อมูลองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านซ่อง ปี 2559 มีสถานประกอบการอุตสาหกรรมที่ได้รับอนุญาตดำเนินการ จำนวน 20 แห่ง (องค์การบริการส่วนตำบลบ้านซ่อง, 2559)

    9.2) ด้านแรงงาน
    ในตำบลบ้านซ่องมีทั้งแรงงานคนไทยและคนงานต่างด้าวสัญชาติพม่าและสัญชาติกัมพูชามาทำงานโรงงานในเขตอุตสาหกรรม

    9.3) ด้านแหล่งน้ำทางการเกษตร
    ตำบลบ้านซ่องไม่มีระบบชลประทาน ซึ่งจะอาศัยน้ำฝนเป็นหลักเพื่อใช้ในการเกษตร โดยมีแหล่งน้ำสำคัญ 2 แหล่ง คือ แหล่งน้ำธรรมชาติ ได้แก่ ห้วย หนอง คลองต่างๆ และแหล่งน้ำที่สร้างขึ้น ได้แก่ สระน้ำที่เกษตรกรสร้างขึ้นและสระน้ำที่ได้รับการสนับสนุน เพื่อใช้ประโยชน์ในไร่นาของตนเอง

    9.4) รายได้-รายจ่าย
    จากข้อมูลกรมการพัฒนาชุมชน (จปฐ.) ปี 2562 พบว่า รายได้เฉลี่ยของประชากรในตำบล   บ้านซ่อง มีรายได้ครัวเรือนเฉลี่ย 208,358.31 บาทต่อปี รายจ่ายครัวเรือนเฉลี่ย 159,599.70 บาทต่อปี รายได้บุคคลเฉลี่ย 89,207.60 บาทต่อปี รายจ่ายบุคคลเฉลี่ย 68,331.84 บาทต่อปี โดยรายได้ครัวเรือนจะมากกว่ารายจ่ายครัวเรือนปีละ 48,758.61 บาท และรายได้บุคคลมากกว่ารายจ่ายบุคคลปีละ 20,875.76 บาท
    (กรมการพัฒนาชุมชน, 2562) 

    ตำบลบ้านซ่อง