More

    วิสัยทัศน์ พันธกิจ

    วิสัยทัศน์

    “เป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต ผลผลิตเกษตรยั่งยืน ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ นำชีวิตสู่วิถีที่พอเพียง”

    พันธกิจ

    1. ศึกษา วิจัย ทดสอบ เพื่อการพัฒนาอาชีพและการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ (ดิน น้ำ ป่า และสิ่งแวดล้อม)
    2. ขยายผลความสำเร็จไปสู่ประชาชน
    3. ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิต
    4. การบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ

    แนวทางการดำเนินงาน

    พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานแนวทางการดำเนินงานให้แก่ศูนย์ศึกษาการพัฒนา
    อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ดังนี้

              1) ทำการศึกษา ค้นคว้า ทดลอง วิจัย เพื่อแสวงหาแนวทางและวิธีการพัฒนาทางด้านต่างๆ ให้เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน
    ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จึงเปรียบเสมือน “ต้นแบบ” ของความสำเร็จที่จะเป็นแนวทางและตัวอย่างให้แก่พื้นที่อื่นๆ ได้ทำการศึกษา
              2) มีการแลกเปลี่ยนสื่อสารระหว่างนักวิชาการ นักพัฒนาส่งเสริม และเกษตรกร การศึกษา ค้นคว้า ทดลอง วิจัยต่างๆ ที่ได้ผลแล้ว ให้สามารถนำไป
    ใช้ประโยชน์ได้จริงในพื้นที่ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จึงเป็นแหล่งผสมผสานวิชาการและปฏิบัติการ เป็นแหล่งศึกษาทดลองของ
    นักวิชาการ เป็นแหล่งแลกเปลี่ยนถ่ายทอดประสบการณ์ความรู้ของ นักพัฒนาส่งเสริม และเป็นแหล่งเรียนรู้เพื่อปฏิบัติเป็นอาชีพของเกษตรกร
              3) มีการบริหารจัดการที่เป็นระบบ เน้นการพัฒนาแบบผสมผสาน อยู่บนหลักการและพื้นฐานของการพึ่งพาตนเองตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
    ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นตัวอย่างที่ดีของแนวความคิดแบบสหวิทยาการ ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในพื้นที่ จัดเป็นแบบ
    จำลองของพื้นที่และรูปแบบการพัฒนาที่ควรจะเป็นให้เป็นตัวอย่างว่าในพื้นที่ลักษณะหนึ่งๆ นั้น จะสามารถใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ได้โดยวิธีใดบ้าง มิใช่
    การพัฒนาเฉพาะทางใดทางหนึ่ง ให้พยายามใช้ความรู้มากสาขา และแต่ละสาขาให้ประโยชน์เกื้อหนุนกับการพัฒนาสาขาอื่น
              4) การประสานงานระหว่างส่วนราชการแบบบูรณาการ จัดเป็นแนวทางและวัตถุประสงค์สำคัญยิ่งประการหนึ่ง แนวทางการดำเนินงานของศูนย์ศึกษา
    การพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เน้นการประสานงาน การประสานแผน และการบริหารจัดการระหว่างกรม กองและส่วนราชการต่างๆ ให้เกิดเป็น
    จริงขึ้น
              5) เป็นศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จ มีการศึกษาทดลองและสาธิตให้เห็นถึงความสำเร็จของการดำ เนินงาน พร้อมกันในทุกด้าน ทั้งด้านการฟื้นฟูสภาพป่า
    การพัฒนา ที่ดิน การเพาะปลูกพืช การปศุสัตว์ ประมง ตลอดจนการพัฒนาทางด้านสังคมและงานศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน ดังพระราชดำรัสให้ศูนย์ศึกษา
    การพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริทำหน้าที่เสมือน “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต” (Living Natural Museum) เป็นการให้บริการ ณ จุดเดียว หรือ
    ศูนย์รวมการพัฒนาแบบเบ็ดเสร็จ (One stop service) โดยการเป็นศูนย์ฝึกอบรมหรือศูนย์เรียนรู้ด้านเกษตรกรรมครบวงจร ซึ่งเกษตรกรและผู้เยี่ยม
    ชมสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ในการประกอบอาชีพการเกษตร และด้านศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน เพื่อพัฒนาชีวิตและความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น

    บทบาทหน้าที่

    ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีบทบาทหน้าที่ในการเป็นศูนย์เรียนรู้ สถาน “ศึกษา” และให้การ “พัฒนา” ไปพร้อมกัน กล่าวคือ มีหน้าที่ศึกษา ค้นคว้า ทดลอง วิจัย และแสวงหาแนวทาง หรือวิธีการพัฒนาถ่ายทอดความรู้ด้านการเกษตรสาขาต่างๆ ที่เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมเพื่อการประกอบอาชีพของราษฎรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นั้นๆ ให้ราษฎรได้รู้ ได้เห็น ได้สัมผัส และสามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างจริงจัง เมื่อศึกษาทดลองได้ผลแล้วก็จะนำไปขยายผล ในลักษณะ “การพัฒนา” สู่ราษฎรที่อาศัยอยู่บริเวณหมู่บ้านรอบศูนย์ฯ และขยายผลเป็นวงกว้างออกไป

    ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ถือเป็นภารกิจสำคัญในการทำหน้าที่เผยแพร่ประชาสัมพันธ์พระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ให้ประชาคมโลกทุกชาติ ทุกชนชั้น ได้รับรู้ถึงโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นกรอบแนวคิดของหลักการและแนวทางการปฏิบัติที่มุ่งสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง พัฒนาคนให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างพออยู่พอกินให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ การเป็นศูนย์เรียนรู้เพื่อส่งเสริมและให้บริการประชาชนนั้น ตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักการ 4 ประการ คือ

    1) เกษตรทฤษฎีใหม่ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 

    พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำรัสชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยมาตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ และเมื่อภายหลังได้ทรงเน้นยํ้าแนวทางการแก้ไขเพื่อให้รอดพ้นและสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์และความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ทรงชี้ถึงแนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ รวมถึงการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์ ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควรต่อการมีผลกระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติ ปัญญา และความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวางทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี

    ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้ปลูกฝังให้เกษตรกรหมู่บ้านรอบศูนย์ฯ ตระหนักถึงพระราชดำริที่ว่า “การพัฒนาคนให้สามารถดำรงชีวิตได้แบบพออยู่พอกิน สามารถพึ่งพาตนเองได้” จึงได้แนะนำส่งเสริมให้ทำการเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ ซึ่งเป็นการเกษตรผสมผสาน เหมาะสำหรับเกษตรกรรายย่อย ที่มีพื้นที่ทำกินขนาดเล็ก 10-15 ไร่ โดยมีการจัดแบ่งที่ดินออกเป็นสัดส่วนคือ แหล่งน้า นาข้าว พืชผสมผสาน และโครงสร้างพื้นฐาน ในอัตราส่วน 30:30:30:10 หรือตามสภาพภูมิประเทศ อันเป็นแนวทางพัฒนาให้เกิดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยเสริมสร้างระบบนิเวศ ลดความเสี่ยงด้านการเกษตรเมื่อเปรียบเทียบกับการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ และมีรายได้ใช้จ่ายตลอดปี หากเป็นการเกษตรอินทรีย์ด้วยแล้ว การใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีป้องกันกำจัดวัชพืชและโรคแมลงศัตรูพืชก็จะหมดไป ช่วยสร้างสมดุลของระบบการผลิตให้เกิดความพอเพียง พื้นที่เพาะปลูกมีความหลากหลายทางชีวภาพมากขึ้น เกิดความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้ในการผลิตทั้งทรัพยากรดิน น้า พรรณพืชและป่าไม้ ช่วยเสริมสร้างความคิดและจิตสำนึกของการพึ่งพาตนเองได้ภายใต้ พื้นฐานของความพอเพียง เมื่อเกิดความพอเพียงและสามารถพึ่งพาตนเองได้ ความยั่งยืนก็จะบังเกิดขึ้นในที่สุด

    2) ศูนย์ขยายพันธุ์หญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ และการปรับปรุงบำรุงดิน

    พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำริว่า “…การปรับปรุง ที่ดินนั้นต้องอนุรักษ์ผิวดินซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ไว้ ไม่ให้ไถหรือลอกหน้าดินทิ้งไป สงวนไม้ยืนต้นที่ยังเหลืออยู่เพื่อที่จะรักษาความชุ่มชื้นของผิวดิน…” 

    เมื่อ วันที่ 22 มิถุนายน 2534 ได้พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับหญ้าแฝกเป็นครั้งแรกกับ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการ กปร. ว่าให้ทำการศึกษาทดลองปลูกหญ้าแฝกเพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน และอนุรักษ์ความชุ่มชื้นไว้ในดิน ขั้นตอนการดำเนินงานเป็นวิธีการแบบง่ายๆ ประหยัด ไม่ต้องให้การดูแลภายหลังการปลูกมากนักเกษตรกรสามารถดำเนินการเองได้ ดังพระราชดำริว่า “…หญ้าแฝกเป็นพืชอเนกประสงค์ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างแพร่หลาย นอกจากคุณประโยชน์หลักของหญ้าแฝกที่ใช้ปลูกเพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน และช่วยฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดินแล้ว รากหญ้าแฝกที่แผ่หยั่งลึกลงไปในดินยังช่วยดูดซับสารพิษที่ปนเปื้อนมากับน้ำที่ไหลผ่าน อีกทั้ง คุณสมบัติพิเศษของกอและใบหญ้าแฝกที่ปลูกล้อมรอบพื้นที่เกษตร ยังมีส่วนช่วยในการป้องกันปลวกและหนู ไม่ให้เข้ามาทำความเสียหายให้กับพืชและผลิตผลในพื้นที่นั้นๆ รวมทั้งใช้ป้องกันงูได้อีกด้วย…” และทรงย้าอยู่เสมอว่ากระบวนการพัฒนาที่ดินทั้งหมดนี้จะต้องชี้แจงให้ราษฎรซึ่งเป็นผู้ได้รับประโยชน์มีส่วนร่วมและลงแรงด้วย 

    ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตระหนักถึงภารกิจนี้ จึงได้ทำการขยายพันธุ์กล้าหญ้าแฝก สำหรับแจกจ่ายให้เกษตรกรและผู้สนใจได้นำไปปลูกในพื้นที่ของตนเอง พร้อมทั้งจัดทำเอกสาร คำแนะนำการปลูกขยายพันธุ์หญ้าแฝก การปลูกหญ้าแฝกเพื่อดึงน้าสร้างดินในพื้นที่แห้งแล้ง ดินเลว ส่งเสริมการพัฒนาและรณรงค์การปลูกหญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้า จัดทำแปลงเรียนรู้สาธิตและส่งเสริมการปลูกหญ้าแฝกเพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน ในพื้นที่ที่มีน้าไหลบ่ากัดเซาะหน้าดินและในพื้นที่ลาดเท การปลูกหญ้าแฝกบริเวณขอบบ่อป้องกันดินพัง และการปลูกหญ้าแฝกเพื่อสงวนความชื้นในดิน ในแปลงเพาะปลูกพืชไร่และไม้ผล เป็นต้น

    3) ส่งเสริมการปลูกและการใช้ประโยชน์พืชสมุนไพร 

    พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งสวนป่าสมุนไพรเขาหินซ้อนขึ้นในปี 2523 เพื่อให้เป็นแหล่งปลูก รวบรวมพืชสมุนไพรชนิดต่างๆ สำหรับการศึกษาวิจัยทางวิชาการ เผยแพร่การใช้ประโยชน์ และเป็นแหล่งศึกษาหาความรู้ของนักเรียน นักศึกษา และผู้สนใจทั่วไป สวนป่าสมุนไพรเขาหินซ้อนเป็นแหล่งรวบรวมพันธุ์พืชสมุนไพรมากกว่า 1,000 ชนิด 

    ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สนับสนุนและส่งเสริมให้มีการปลูกพืชสมุนไพรและทำการศึกษาวิจัยการใช้ประโยชน์จากพืชสมุนไพรสำหรับการป้องกัน รักษา บรรเทา อาการของโรคบางชนิดที่เกิดขึ้นทั้งในคน สัตว์ และพืช ทั้งนี้ เพื่อลดโทษและพิษภัยของสารเคมีที่ตกค้างในร่างกาย เพื่อสร้างความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเพื่อคืนสู่ธรรมชาติ อันเป็นการรักษาสมดุลของระบบนิเวศ รวมทั้งส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกและแปรรูปพืชสมุนไพร เพื่อสร้างรายได้เสริม และเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร

    4) เป็นศูนย์ฝึกวิชาชีพ 

    ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้ให้บริการฝึกอบรมวิชาชีพด้านเกษตรกรรมสมบูรณ์แบบและศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน รวมทั้งการซ่อมเครื่องยนต์ และความรู้ด้านคอมพิวเตอร์ให้แก่เกษตรกร นักเรียน นักศึกษา และผู้สนใจทั่วไป เพื่อสนองพระราชดำริให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริเป็นศูนย์เรียนรู้ อันเป็นการเสริมสร้างความรู้ความสามารถในการประกอบอาชีพ ฝึกหัดให้เกิดความชำนาญ และเป็นแนวทางในการประกอบอาชีพ เพื่อสร้างเสริมรายได้ เกษตรกรและผู้สนใจทั่วไปสามารถติดต่อขอเข้ารับการฝึกอบรมได้ตลอดเวลาโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ

    นอกจากนี้ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ยังถือเป็นภารกิจในการเป็นแหล่งเรียนรู้และให้การฝึกงานแก่นักเรียน และนักศึกษาจากสถาบันการศึกษาทั่วไปอีกด้วย