
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร ได้พระราชทานพระราชดำริให้ศึกษาทดลองการปลูกหญ้าแฝกเพื่อป้องกันการพังทลายของดินในพื้นที่ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ และพื้นที่อื่นๆ ที่เหมาะสมอย่างกว้างขวาง เนื่องจากพื้นที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ มีสภาพเสื่อมโทรม ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ เนื้อดินเป็นทราย มีการชะล้างพังทลายของดินสูง ในฤดูแล้งจะมีการชะล้างเนื่องจากลมพัด (Wind Erosion) ในฤดูฝนจะมีการชะล้างเนื่องจากน้ำกัดเซาะ (Water Erosion)
หญ้าแฝกเป็นพืชที่มีระบบรากลึกและแผ่กระจายลงไปในดินตรง ๆ เป็นแผงเหมือนกำแพง ช่วยกรองตะกอนดินและรักษาหน้าดินได้ดี จึงเหมาะในการใช้ยึดดินป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน จึงเปรียบเหมือน “กำแพงธรรมชาติที่มีชีวิต” แฝกยังสามารถปลูกเป็นแนวป้องกันตะกอนดินและกรองของเสียต่าง ๆ ที่ไหลลงน้ำป้องกันการชะล้างพังทลายของหน้าดิน โดยรากของหญ้าแฝกจะอุ้มน้ำไว้ รากของหญ้าแฝกมีความแข็งแรงสามารถหยั่งลงไปในดินเนื้อดินดาน ซึ่งเป็นดินที่มีความแข็งคล้ายหิน ทำให้ดินแตกร่วนซุย เป็นการเพิ่มความชุ่มชื้นในดินได้อีกทางหนึ่ง
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ ได้น้อมนำแนวพระราชดำริในการนำหญ้าแฝกมาใช้เพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ โดยมีการทดสอบ วิจัย ถ่ายทอดเทคโนโลยีการใช้หญ้าแฝกเพื่อดึงน้ำสร้างดินในพื้นที่แห้งแล้ง ดินเลว ส่งเสริมและรณรงค์การปลูกหญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ จัดทำแปลงเรียนรู้สาธิตและส่งเสริมการปลูกหญ้าแฝกเพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดินในพื้นที่ที่มีน้ำไหลบ่ากัดเซาะหน้าดินและในพื้นที่ลาดเท การปลูกหญ้าแฝกบริเวณขอบบ่อป้องกันดินพังทลายและการปลูกหญ้าแฝกเพื่อสงวนความชื้นในดินในแปลงเพาะปลูกพืชไร่และไม้ผลเป็นต้น รวมถึงให้คำแนะนำการปลูกขยายพันธ์ุหญ้าแฝก ส่งเสริมและขยายพันธุ์หญ้าแฝกสำหรับแจกจ่ายแก่เกษตรกรและผู้สนใจทั่วไปด้วย
ประวัติและความสำคัญของหญ้าแฝก
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร ได้ทรงศึกษาเรื่องการใช้หญ้าแฝกในการอนุรักษ์ดินและน้ำจากเอกสารของธนาคารโลก ซึ่ง นาย Richard Grimshaw ได้ทูลเกล้าฯ ถวาย และได้พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับหญ้าแฝกเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2534 สรุปความว่า ให้ศึกษา ทดลองปลูกหญ้าแฝกเพื่อป้องกันการพังทลายของดิน ในพื้นที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตลอดจนพื้นที่อื่น ๆ โดยให้พิจารณาการปลูกตามความเหมาะสมของภูมิประเทศ และควรเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผลการศึกษา ทดลอง ให้ครอบคลุมทุกด้านด้วย
หญ้าแฝกเป็นพืชในตระกูลหญ้า (Gramineae) เช่นเดียวกับหญ้าคา หญ้าขจรจบ ข้าวฝ่าง ไผ่ อยู่ใน Tribe Andropogoneae สกุล Vetiveria แต่มีลักษณะพิเศษ ที่สามารถนำมาปลูกเป็นแถวเป็นแนวเพื่อเป็นปราการธรรมชาติ ช่วยกรองตะกอนดินที่ถูกชะล้างมากักเก็บไว้ ชะลอความเร็วของน้ำตามธรรมชาติและทำให้ดินดูดซับน้ำได้ทัน จึงถูกนำมาใช้ปลูกในการอนุรักษ์ดินและน้ำ เนื่องมาจากมีลักษณะเด่นหลายประการ ดังนี้
1. มีการแตกหน่อรวมเป็นกอ เบียดกันแน่น ไม่แผ่ขยายด้านข้าง
2. มีการแตกหน่อและใบใหม่ ไม่ต้องดูแลมาก
3. หญ้าแฝกมีข้อที่ลำต้นถี่ ขยายพันธุ์โดยใช้หน่อได้ตลอดปี
4. ส่วนใหญ่ไม่ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด ทำให้ควบคุมการแพร่ขยายได้
5. มีใบยาว ตัดและแตกใหม่ง่าย แข็งแรงและทนต่อการย่อยสลาย
6. ระบบรากยาว สานกันแน่น และช่วยอุ้มน้ำ
7. บริเวณรากเป็นที่อาศัยของจุลินทรีย์
8. ปรับตัวกับสภาพต่าง ๆ ได้ดี ทนทานต่อโรคพืชทั่วไป
9. ส่วนที่เจริญต่ำกว่าผิวดิน ช่วยให้อยู่รอดได้ดีในสภาพต่าง ๆ
ลักษณะของหญ้าแฝก
1. ลำต้น (Culm)
หญ้าแฝกเป็นหญ้าที่ขึ้นเป็นกอมีลักษณะเป็นพุ่ม กอแฝกมีขนาดค่อนข้างใหญ่โคนกอเบียดกันแน่นเป็นลักษณะเฉพาะอันหนึ่งที่แตกต่างจากหญ้าอื่น ๆ ส่วนโคนของลำต้นจะแบน เกิดจากส่วนของโคนใบที่จัดเรียงพับซ้อนกัน ลำต้นแท้จริงจะมีขนาดเล็กอยู่ภายในกาบใบส่วนของบริเวณคอดิน การเจริญเติบโตและการแตกกอของหญ้าแฝกจะมีการแตกหน่อใหม่ทดแทนต้นเก่าอยู่เสมอโดยจะแตกหน่อออกทางด้านข้างรอบคอดิน ทำให้กอมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ข้อและปล้องจะมองเห็นไม่ชัดเจน
2. ใบ (Leaf)
ใบของหญ้าแฝกจะแตกออกจากโคนกอ มีลักษณะแคบยาว ขอบใบขนาน ปลายสอบแหลม ด้านท้องใบจะมีสีจางกว่าด้านหลังใบ แผ่นใบกร้านระคายมือ โดยเฉพาะใบแก่ ขอบใบและเส้นกลางใบมีหนามละเอียด (spinulose) หนามบนใบที่ส่วนโคน และกลางแผ่นจะมีน้อย แต่จะมีมากที่บริเวณปลายใบ กระจัง หรือเยื่อกันน้ำฝนที่โคนใบ (Ligule) จะลดรูป มีลักษณะเป็นเพียงขอบโค้งของขนสั้นละเอียด บางครั้งสังเกตได้ไม่ชันเจน
3. ราก (Roots)
รากของหญ้าแฝกมีความสำคัญและถูกนำมาใช้ประโยชน์เป็นหลัก หญ้าส่วนใหญ่จะมีรากที่เป็นระบบรากฝอยแตกจากส่วนต้นใต้ดินกระจายออกแผ่กว้างเพื่อยึดพื้นดินตามแนวนอน มากกว่าที่จะเจริญในแนวดิ่งและไม่ลึกมาก แต่ระบบรากของหญ้าแฝกจะมีความแตกต่างจากรากหญ้าอื่น ๆ คือ มีระบบรากที่มีรากฝอยจำนวนมากสานกันแน่นเป็นร่างแห เจริญหยั่งลึกลงดินในแนวดิ่ง เมื่ออายุประมาณ 1 ปีจะมีความยาวราก ลึกประมาณ 80 – 100 เซนติเมตร
4. ช่อดอก (Inflorescence)
หญ้าแฝกมีช่อดอกตั้งตรงขึ้นลักษณะคล้ายรวงข้าว ก้านช่อดอกยาวกลมและรวงยาวประมาณ 100 -150 เซนติเมตร แต่ในต้นที่สมบูรณ์จะสูงยาวจากพื้นดินเกินกว่า 200 เซนติเมตร เฉพาะส่วนช่อดอกหรือรวงยาว 20 – 40 เซนติเมตร ความกว้างของช่อเมื่อแผ่เต็มที่ 10 – 15 เซนติเมตร ช่อดอกของหญ้าแฝกหอมส่วนใหญ่จะมีสีม่วง ซึ่งเป็นลักษณะประจำแต่ละชนิดพันธุ์
5. ดอกหญ้าแฝก (Spikelets)
ดอกหญ้าแฝกจะเรียงตัวอยู่ด้วยกันเป็นคู่ ๆ แต่ละคู่ประกอบด้วยดอกชนิดที่ไม่มีก้าน และดอกชนิดมีก้าน ยกเว้นที่ส่วนปลายของก้านช่อย่อย มักจะจัดเรียงเป็น 3 ดอกอยู่ด้วยกัน ดอกไม่มีก้านจะอยู่ด้านกลาง ส่วนดอกที่มีก้านจะชูอยู่ด้านบน ดอกหญ้าแฝกมีลักษณะคล้ายกระสวยทรงขอบขนานรูปไข่ ปลายสอบ ขนาดของดอกกว้าง 1.5 – 2.5 มิลลิเมตร ยาว 2.5 – 3.5 มิลลิเมตร ผิวบนด้านหลังขรุขระมีหนามแหลมขนาดเล็ก โดยเฉพาะบริเวณขอบเห็นได้ชัดเจนเมื่อส่องดูด้วยแว่นขยาย ด้านล่างผิวเรียบ
6. เมล็ดและต้นอ่อน (Seed and Seeding)
ดอกหญ้าแฝกเมื่อได้รับการผสมแล้ว ดอกที่ไม่มีก้านดอกซึ่งเป็นดอกสมบูรณ์เพศก็จะติดเมล็ด เมล็ดมีสีน้ำตาลอ่อน เป็นรูปกระสวยผิวเรียบ หัวท้ายมน มีเนื้อในลักษณะคล้ายแป้งเหนียว สูญเสียสภาพความงอกได้ง่าย เมื่อถูกลมแรง แดดจัดหรือสภาพอากาศวิกฤติ เนื้อแป้งเปลี่ยนเป็นแข็งรัดตัวทำให้ไม่สามารถขยายตัวได้ เมล็ดหญ้าแฝกมีความสามารถในการงอกอยู่ในช่วงระยะเวลาจำกัดเพียงช่วงสั้นๆ จึงทำให้หญ้าแฝกไม่สามารถแพร่กระจายกลายเป็นวัชพืชร้ายแรงได้
พันธุ์หญ้าแฝก
หญ้าแฝกในประเทศไทย จำแนกได้เป็น 2 ชนิด ได้แก่ หญ้าแฝกหอมหรือแฝกลุ่ม (Vetiveria zizanioides) และหญ้าแฝกดอน (Vetiveria nemoralis) โดยในธรรมชาติพบว่า หญ้าแฝกทั้งสองชนิดมีการกระจายพันธุ์อยู่ทั่วไป สามารถขึ้นได้ในสภาพพื้นที่ทั้งที่ลุ่มและที่ดอนในดินสภาพต่าง ๆ จากความสูงใกล้ระดับน้ำทะเล จนถึงระดับประมาณ 800 เมตรและภายหลังได้มีการนำพันธุ์หญ้าแฝกจากต่างประเทศมาปลูกเพื่อศึกษาทดลองอีกจำนวนมาก ซึ่งกรมพัฒนาที่ดินได้ศึกษา วิจัย เปรียบเทียบพันธุ์และได้คัดเลือกพันธุ์ที่มีการเจริญเติบโตเหมาะสมกับสภาพดินในพื้นที่จำนวน 10 สายพันธุ์ ดังนี้
หญ้าแฝกดอน 6 สายพันธุ์
1. พันธุ์เลย ดินร่วนเหนียว
2. พันธุ์นครสวรรค์ ดินทรายถึงดินร่วนเหนียว
3. พันธุ์กำแพงเพชร1 ดินทรายถึงดินร่วนเหนียว
4. พันธุ์ร้อยเอ็ด ดินทรายถึงดินร่วนเหนียว
5. พันธ์ราชบุรี ดินทราย
6. พันธุ์ประจวบคีรีขันธ์ ดินร่วนเหนียว
หญ้าแฝกหอมหรือแฝกลุ่ม 4 สายพันธุ์
1. พันธุ์ศรีลังกา ดินลูกรัง
2. พันธุ์กำแพงเพชร 2 ดินทรายถึงดินลูกรัง
3. พันธุ์สุราษฎร์ธานี ดินร่วนเหนียวถึงลูกรัง
4. พันธุ์สงขลา 3 ดินร่วนเหนียวถึงลูกรัง
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้ศึกษาพันธุ์หญ้าแฝกและคัดเลือกสายพันธุ์สำหรับนำมาขยายพันธุ์เพื่อให้บริการแจกจ่ายและนำไปปลูกในพื้นที่บริเวณใกล้เคียง โดยพันธุ์หญ้าแฝกที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ ใช้เป็นพันธุ์หญ้าแฝกหอมหรือหญ้าแฝกลุ่ม พันธุ์สุราษฎร์ธานี
การขยายพันธุ์หญ้าแฝก
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ ได้ทำการขยายพันธุ์หญ้าแฝก 3 วิธี ได้แก่
1) การขยายพันธุ์แบบรากเปลือย
การเตรียมหน่อหญ้าแฝกนั้น กล้าหญ้าแฝกที่สามารถนำมาขยายพันธุ์ได้ต้องมีอายุ 4 เดือนขึ้นไป คัดเลือกหน่อที่สมบูรณ์ไม่แก่เกินไป คือ เริ่มย่างปล้อง แยกเป็นหน่อเอียงๆ หากเป็นหน่อแก่หรือย่างปล้องแล้ว ควรแยกให้มีหน่ออ่อนติดมาด้วย 1-2 หน่อ ตัดยอดให้เหลือหน่อยาว 20-25 เซนติเมตร ตัดรากให้สั้น ลอกกาบใบให้สะอาด นำไปแช่น้ำให้ท่วมโคนต้น ประมาณ 5 เซนติเมตร เป็นเวลา 3 วัน หรือใช้น้ำหมักชีวภาพที่ผลิตจากสารเร่งซุปเปอร์ พด.2 อัตราส่วน น้ำ 20 ลิตร ต่อน้ำหมักชีวภาพ 40 มิลลิลิตร แช่เพียง 1 วัน กล้าหญ้าแฝกจะเกิดตุ่มรากขึ้น พร้อมจะนำไปปลูกด้วยวิธีการต่าง ๆ
2) การขยายพันธุ์ในถุงพลาสติก
เป็นการขยายพันธุ์ที่เหมาะสมสำหรับนำไปปลูกลงดิน เพื่อขยายพันธุ์ต่อหรือนำไปปลูกในพื้นที่เป้าหมายอนุรักษ์ดินและน้ำด้วยวิธีการรูปแบบและวัตถุประสงค์ต่าง ๆ เช่น การปลูกตามแนวขอบบ่อไร่นา ขอบถนน ไหล่ทาง ปลูกเป็นแนวระดับในพื้นที่สวนและไร่ ฯลฯ
วิธีการ
(1) เตรียมวัสดุในการปักชำให้พร้อม เช่น ถุงพลาสติกขนาด 2.5 นิ้ว ยาว 7 นิ้ว และดินผสม ประกอบไปด้วย ดินทราย และขี้เถ้าแกลบในอัตราส่วน 2:1 เตรียมพื้นที่วางถุงกล้าหญ้าแฝกให้มีขนาดกว้างประมาณ 120 เซนติเมตร ยาวไปตามความเหมาะสมของพื้น เว้นทางเดินระหว่างแปลง ประมาณ 70 เซนติเมตร พร้อมวางระบบน้ำแบบสปริงเกอร์
(2) เตรียมหน่อพันธุ์ โดยเตรียมเป็นแบบรากเปลือยที่มีตุ่มรากแล้วใช้ในการปักชำ
(3) ปักชำกล้าหญ้าแฝกลงถุงโดยตักดินผสมลงถุงพลาสติกครึ่งถุง นำกล้าหญ้าแฝกปักลงชิดข้างใดข้างหนึ่ง แล้วเติมดินลงไปให้เต็มถุง กระทุ้งก้นถุงเพื่อให้ดินในถุงแน่นและก้นถุงจะได้เรียบ เวลาจัดเรียงจะได้ไม่ล้ม เสร็จแล้วจัดเรียงในแปลงที่เตรียมไว้ รดน้ำให้ชุ่มโดยใช้ระบบน้ำฝอยหรือสปริงเกอร์ในกรณีเพาะชำเป็นจำนวนมาก ๆ ประมาณ 3 สัปดาห์ ถึง 1 เดือน เริ่มให้ปุ๋ยสูตร 46 – 0 – 0 อัตรา 15 กก./ไร่ หลังจากนั้นให้ปุ๋ยสูตร 15 – 15 – 15 อัตรา 30 กก./ไร่ ทุก ๆ 20 วัน รดน้ำให้ชุ่มอยู่เสมอ เมื่อหญ้าแฝก อายุ 45 – 50 วัน จะมีหน่อ 3 – 5 หน่อ รากกระจายเต็มถุง พร้อมที่จะนำไปปลูกได้ แต่ถ้าพื้นที่เป้าหมายยังไม่พร้อม ควรตัดใบทิ้งเมื่อหญ้าแฝกมีอายุ 60 วัน เพื่อกระตุ้นการแตกหน่อใหม่ด้วยแสงยืดอายุต้นกล้าหญ้าแฝกอีกด้วย
3) การขยายพันธุ์ในแปลง
เป็นวิธีการที่เหมาะสำหรับการปลูกเป็นจำนวนมาก เช่น ปลูกเพื่อปรับสภาพดินเสื่อมโทรม หรือ ปลูกเพื่อเป็นแปลงแม่พันธุ์สำหรับขุดไปขยายพันธุ์ต่อด้วยวิธีอื่น ๆ
วิธีการ
(1) คัดเลือกพื้นที่ที่จะทำการขยายพันธุ์ซึ่งทำได้ในลักษณะพื้นที่นา หรือพื้นที่ไร่และสวน
(2) ทำการเตรียมดินโดยไถพรวนพื้นที่กำจัดวัชพืชให้เรียบร้อย
(3) เตรียมการให้น้ำโดยถ้าเป้นพื้นที่นา (พื้นราบเรียบ) ให้เตรียมดินเป็นร่องห่างกันประมาณ 5 เมตร เพื่อเป็นการส่งน้ำได้ทั่วถึง ส่วนพื้นที่ไร่และสวน (พื้นที่มีความลาดเท หรือไม่สม่ำเสมอ) ควรติดตั้งระบบการให้น้ำแบบติดหัวสปริงเกอร์ให้ทั่วทั้งแปลง
(4) นำกล้าหญ้าแฝกที่เพาะชำจากถุงพลาสติกนำลงมาปลูกในแปลงโดยใช้ระยะปลูก 50 x 50 เซนติเมตร หากเป็นฤดูฝน หรือสามารถให้น้ำอย่างชุ่มชื่นทั้งวันได้ ก็ใช้หน่อพันธุ์แบบรากเปลือย โดยปลูกหลุมละ 2 – 3 หน่อ รดน้ำให้ชุ่มชื่นอยู่เสมอ เมื่อกล้าหญ้าแฝกมีอายุ 1 เดือน ให้ปุ๋ยสูตร 15 – 15 – 15 อัตรา 30 กก./ไร่ และใส่เป็นประจำทุกเดือน เมื่อหญ้าแฝกมีอายุ 4 – 5 เดือน จะได้ผลผลิตหน่อหญ้าแฝกที่สมบูรณ์ ที่จะนำไปปลูกต่อกอละ 40 – 50 หน่อ ในพื้นที่แปลงขยายพันธุ์ 1 ไร่ จะสามารถผลิตหน่อพันธุ์หญ้าแฝกได้ครั้งละประมาณ 120,000 – 150,000 หน่อ ผลิตหมุนเวียนได้ตลอดปี
วิธีการขุดหน่อพันธุ์ และสับฉีกหญ้าแฝก
1. ใช้ขาคล่อมกอหญ้าแฝกไว้พร้อมบิดกอ
2. ใช้จอบสับใต้โคนกอหญ้าแฝก
3. ใช้จอบสับและงัดเข้าหาตัว
4. ใช้จอบสับงัดให้รอบกอหญ้าแฝก
5. เคาะเอาดินที่ติดกับรากออก
6. แบ่งกอโดยใช้มีดสับให้พอดีกำ
7. สับใบให้เหลือหน่อยาว 20 – 25 เซนติเมตร
8. แยกหน่อลอกกาบใบให้สะอาด
9. มัดรวมกันนำไปแช่น้ำให้ท่วมโคน 5 เซนติเมตร
10. พอกล้าหญ้าแฝกเกิดตุ่มราก พร้อมนำไปปลูก
การขยายพันธุ์ |
ข้อดี |
ข้อเสีย |
รากเปลือย |
– ใช้เวลาน้อย – ต้นทุนต่ำ – ง่ายต่อการขนส่งไปยังพื้นที่เป้าหมาย |
– เก็บกล้าพันธุ์ได้น้อยวัน – ฤดูแล้งอัตราการรอดน้อย |
ปักชำในถุงพลาสติก |
– เก็บกล้าพันธุ์ไว้ได้นาน – อัตราการรอดในการนำไปปลูกสูง – กล้าพันธุ์แข็งแรง – ปลูกนอกฤดูฝนได้ |
– ต้นทุนสูง (วัสดุ) – ใช้แรงงานมาก – การขนส่งไปยังพื้นที่เป้าหมายได้น้อยต่อเที่ยว – ใช้เวลาในการขยายพันธุ์มาก |
ปลูกลงแปลง |
– ใช้เป็นพื้นที่ขยายพันธุ์ต่อ – ใช้ปรับสภาพดินเสื่อมโทรมเต็มพื้นที่ – เหมาะสำหรับปลูกจำนวนมาก – ปลูกหมุนเวียนได้ตลอดปี |
– ต้องดูแลอย่างต่อเนื่อง – ค่าใช้จ่ายเรื่องระบบน้ำ (ในพื้นที่สวนและไร่) |
รูปแบบการปลูกแฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ
1) การปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่ลาดชัน
ควรปลูกหญ้าแฝกเป็นแถวตามแนวระดับขวางความลาดเทในต้นฤดูฝน โดยการทำแนวร่องปลูกตามแนวระดับ ใช้ระยะระหว่างต้น 5 เซนติเมตร สำหรับกล้ารากเปลือยและระยะ 10 เซนติเมตร สำหรับกล้าถุง ระยะห่างแถวตามแนวดิ่งไม่เกิน 2 เมตร หญ้าแฝกจะเจริญเติบโตแตกกอชิดกันภายใน 4-6 เดือน
2) การปลูกหญ้าแฝกรอบบริเวณแหล่งน้ำ
การน้ำหญ้าแฝกไปปลูกรอบบริเวณแหล่งน้ำ จะช่วยเก็บกักตะกอนดินป้องกันดินตื้นเขินของแหล่งน้ำ ช่วยยึดเกาะหน้าดินป้องกันดินพังทลาย นอกจากนั้น หญ้าแฝกยังช่วยดูดซับสารเคมีก่อนที่จะไหลลงสู่แหล่งน้ำ ทำให้น้ำในแหล่งน้ำมีคุณภาพดีเหมาะสมแก่การอุปโภคบริโภคและการเพาะเลี้ยงสันต์น้ำ
3) การปลูกหญ้าแฝกตามไหล่ถนน
การปลูกหญ้าแฝกบริเวณไหล่ถนน เป็นวิธีป้องกันความเสียหายของไหล่ถนน และเป็นการลดการกัดเซาะของน้ำฝนได้ดี รวมทั้งรากหญ้าแฝกจะช่วยยึดดินบริเวณไหล่ถนนไม่ให้เกิดการพังทลาย การวางแนวปลูกหญ้าแฝกบริเวณด้านข้างตามความยาวของไหล่ถนน ควรให้แถวหญ้าแฝกต่ำกว่าไหล่ถนนประมาณ 30 – 50 เซนติเมตรเพื่อป้าวงกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดจากแนวหญ้าแฝกบังสายตาของผู้ใช้รถใช้ถนน
รูปแบบการปลูกแฝกเพื่อควบคุมร่องน้ำและกระจายน้ำ
นำกล้าหญ้าแฝกในถุงพลาสติกที่มีการแตกกอ และแข็งแรงดีแล้วไปปลูกในร่องน้ำ โดยขุดหลุมปลูกขวางร่องน้ำ เป็นแนวตรง หรือแนวหัวลูกศรชี้ย้อนไปทิศทางน้ำไหล (รูปตัว V คว่ำ) อาจใช้กระสอบทรายหรือก้อนหิน ช่วยทำคันเสริมฐานให้มั่นคงตามแนวปลูกหญ้าแฝก ระยะห่างระหว่างต้น 5 เซนติเมตร สำหรับกล้ารากเปลือย และ 10 เซนติเมตร สำหรับกล้าถุง และระหว่างแนวปลูกหญ้าแฝกไม่เกิน 2 เมตร ตามแนวตั้งหลังจากเกิดคันดินกั้นน้ำ ควรปลูกหญ้าแฝกต่อจากแนวคันดินกั้นน้ำออกไปทั้งสองข้าง เพื่อเป็นการกระจายน้ำเข้าสู่พื้นที่เพาะปลูก
รูปแบบการปลูกหญ้าแฝกเพื่อการรักษาความชื้น
- ไม้ผล
ปลูกหญ้าแฝกเป็นวงกลมหรือครึ่งวงกลมให้ห่างจากโคนต้นไม้ผล 1.5 เมตร เพื่อไม้ผลเจริญเติบโตขึ้นมาคลุมพื้นที่ หญ้าแฝกจะตายไปกลายเป็นอินทรีย์วัตถุในดินต่อไป - ผัก พืชไร่
ปลูกหญ้าแฝกรอบแปลงปลูกผัก ในกรณีพืชไร่ให้ปลูกหญ้าแฝกเป็นแถวสลับกับปลูกพืชไร่ ซึ่งสามารถตัดใบหญ้าแฝกมาใช้คลุมดินเพื่อรักษาความชื้นในดินได้
รูปแบบการปลูกหญ้าแฝกเพื่อบำบัดน้ำเสีย
การบำบัดน้ำเสียในแหล่งน้ำสามารถใช้การปลูกหญ้าแฝกในแพ โดยหญ้าแฝกมีรากที่ยาว 1-2 เมตร จึงเหมาะกับการบำบัดน้ำเสียแบบใช้รากจุ่มลงน้ำโดยตรง วิธีการเป็นการนำหญ้าแฝกสายพันธุ์ลุ่มที่ปลูกลงในแพไม้ไผ่ ที่ทำเป็นทุ่นสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 1.00 เมตร ยาว 1.20 เมตร ด้านล่างใช้ไม้ไผ่สานกันเป็นตะแกรง ขนาดช่อง 1×1 เซนติเมตร แล้วนำแพแฝกไปปล่อยลอยน้ำที่ต้องการบำบัด โดยให้แถวของหญ้าแฝกในแพขวางทางน้ำไหลซึ่งจะต้องใช้จำนวนแพมากตามพื้นที่ผิวน้ำที่จะบำบัด ตัดใบทุก 1 เดือน และเมื่อหญ้าแฝกมีอายุ 10-12 เดือน หรือต้นเป็นก้านแข็งไม่สามารถตัดได้ควรเปลี่ยนหญ้าแฝกใหม่มาปลูก สายพันธุ์หญ้าแฝกลุ่มที่เจริญเติบโตได้ดี ได้แก่ สายพันธุ์ใหม่ห้วยหวาย ฟิจิ ศรีลังกา สงขลา 3 และสุราษฎร์ธานี
การปลูกแฝกกับพืชชนิดต่าง ๆ
1) พื้นที่นา
ควรปลูกหญ้าแฝกล้อมรอบพื้นที่บริเวณขอบคันนา เกษตรกรสามารถตัดใบหญ้าแฝกมาคลุมดินที่ปลูกพืชผักหรือพืชไร่ในนาข้าวหลังฤดูเก็บเกี่ยว เพื่อเป็นการเพิ่มอินทรียวัตถุในนาข้าว และสงวนความชื้นในดินให้กับพืชที่ปลูกหลังนาในฤดูแล้งได้ นอกจากนี้ยังสามารถปลูกหญ้าแฝกหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวเพื่อฟื้นฟูสภาพดิน (เหมาะสมกับการทำข้าวนาปี) ในขณะที่ดินยังคงมีความชื้น โดยใช้ระยะปลูกระหว่างต้นและระหว่างแถว 50 เซนติเมตร หลังจากปลูกควรมีการให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ เมื่อแฝกมีอายุได้ 6 เดือน หรือก่อนการทำนาในฤดูกาลถัดไปสามารถขุดกอแฝกเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่อื่น ๆ ได้ ส่วนรากแฝกจะย่อยสลายกลายเป็นอินทรียวัตถุช่วยปรับปรุงดินต่อไป
2) พืชไร่
สามารถใช้หญ้าแฝกปลูกเป็นแถวในพืชไร่ตามพื้นที่ลาดชัน โดยปลูกเป็นแถวสลับกับปลูกพืชไร่จะช่วยกักเก็บเม็ดดินและเศษใบไม้ใบหญ้าที่ถูกพัดพามากับน้ำมาสะสมอยู่หน้าแถวหญ้าแฝกที่ปลูกตามแนวระดับช่วยสร้างเป็นชั้นดินธรรมชาติอยู่หน้าแถวหญ้าแฝก และยังช่วยชะลอการไหลของน้ำและหญ้าแฝกที่มีระบรากลึกทำให้ดึงน้ำใต้ดินขึ้นมาผิวดินเพิ่มความชื้นให้กับดิน และยังสามารถตัดใบหญ้าแฝกมาคลุมดินระหว่างแถวพืชไร่ เพื่อรักษาความชื้นให้กับดินและพืชที่ปลูกได้อีกด้วย
3) ไม้ผล
ควรปลูกหญ้าแฝกในสวนผลไม้ ระยะที่ไม้ผลยังไม่โต หรือปลูกก่อนที่จะลงไม้ผล สำหรับพื้นที่ที่มีความลาดเทปานกลาง – ต่ำ ที่มีลักษณะพื้นที่มีความลาดเทสม่ำเสมอ ควรปลูกแถวหญ้าแฝกขนานไปกับแถวของไม้ผลที่ระยะกึ่งกลางของแถวไม้ผล สำหรับพื้นที่ที่มีความลาดเทไม่สม่ำเสมอ การปลูกหญ้าแฝกเพื่อรักษาความชุ่มชื้นในดิน สามารถใช้ปลูกเป็นวงกลมรอบไม้ผลแต่ละต้น หรือปลูกแบบครึ่งวงกลม (ครึ่งวงกลมหงายรับน้ำฝน) ห่างจากโคนไม้ผล 2.5 เมตร เพื่อไม้ผลเจริญเติบโตขึ้นมาคลุมพื้นที่ หญ้าแฝกจะตายไปกลายเป็นอินทรียวัตถุในดินต่อไป
4) พืชผัก ไม้ดอก ไม้ประดับ
ควรใช้หญ้าแฝกปลูกรอบพื้นที่ยกร่องหรือรอบแปลงเพาะปลูกพืชผัก ไม้ดอก ไม้ประดับ และตัดใบหญ้าแฝกนำไปคลุมดินทดแทนการใช้ฟางข้าว โดยหากขนาดของแปลงผักมีขนาด กว้าง 1 – 2 เมตร ควรปลูกหญ้าแฝกที่บริเวณริมขอบของแปลงผัก โดยปลูกต้นชิดติดกันเป็นแถวรอบแปลงผัก และแถวของหญ้าแฝกห่างจากพืชผักที่ปลูก ประมาณ 10 เซนติเมตร เพื่อที่หญ้าแฝกจะช่วยในการยึดเกาะดินไม่ให้ขอบแปลงผักพังทลาย และทำให้เราไม่ต้องขุดดินขึ้นแปลงใหม่บ่อยๆ
การใช้ประโยชน์จากหญ้าแฝกด้านอื่น ๆ
หญ้าแฝกสามารถนำมาใช้ประโยชน์เพื่อการพัฒนาอาชีพและพิทักษ์รักษาสิ่งแวดล้อมได้ดี ได้แก่ การนำหญ้าแฝกมาใช้ประโยชน์ในด้านการเกษตร เช่น การนำมาทำเป็นหญ้าอาหารสัตว์ เพาะเห็ด และทำปุ๋ยหมัก ในด้านศิลปหัตถกรรม สามารถใช้ใบและรากหญ้าแฝก ในการประดิษฐ์ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้หลายชนิด เช่น ทำตุ๊กตา หมวก กระเป๋า ตระกร้าใส่ของใช้ สามารถนำมาใช้เป็นวัสดุมุงหลังคาและยุ้งฉาง ในด้านการใช้ประโยชน์เพื่อเป็นเครื่องหอมและเครื่องยาสมุนไพร พบว่า รากหญ้าแฝกสามารถใช้เป็นยาพื้นบ้านรักษาโรคได้หลายชนิด และใช้ทำน้ำหอมได้ ส่วนในด้านการพิทักษ์สิ่งแวดล้อม พบว่า รากของหญ้าแฝกที่ปลูกป้องกันการชะล้างพังทะลายของดิน จะสามารถดูดซับสารพิษ อันเนื่องจากการใช้สารเคมีในการเกษตร และป้องกันมิให้เกิดมลภาวะในแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากไนเตรท และโลหะหนักบางชนิด ปัจจุบันยังสามารถนำมาทำวัสดุทดแทนไม้ได้อีกด้วย
อีกประโยชน์หนึ่งของหญ้าแฝก คือ การใช้ใบของหญ้าแฝกมาห่มดินเพื่อเป็นการป้องกันการระเหยของน้ำในดิน รักษาความชุ่มชื้นของดิน ช่วยส่งเสริมกิจกรรมของจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ในดิน และยังช่วยควบคุมวัชพืชไม่ให้ขึ้นในพื้นที่เร็วเกินไป โดยเมื่อใบแฝกย่อยสลายจะช่วยเพิ่มปริมาณอินทรียวัตถุให้กับดิน เป็นการปรับปรุงดินก่อนการเพาะปลูก
การติดต่อขอรับพันธุ์กล้าหญ้าแฝก
ติดต่อขอรับพันธุ์กล้าหญ้าแฝก ได้ที่งานพัฒนาที่ดิน ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา 24120 โทรศัพท์ 038-554-982-3
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ ให้บริการกล้าหญ้าแฝก 2 แบบ ได้แก่ หญ้าแฝกแบบเปลือยราก และหญ้าแฝกชำในถุงพลาสติก ขอรับกล้าหญ้าแฝกได้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป โดยผู้เข้าขอรับกล้าหญ้าแฝกสามารถขอรับกล้าได้จำนวน 2,000 กล้าต่อ 1 ท่าน ซึ่งพันธุ์กล้าหญ้าแฝกที่ทางศูนย์ฯ มีให้บริการเป็นหญ้าแฝกหอม หรือหญ้าแฝกลุ่ม สายพันธุ์สุราษฎร์ธานี โดยมีขั้นตอนการขอรับบริการ ดังนี้
1) กรอกข้อมูลในใบขอรับกล้าหญ้าแฝก ณ จุดบริการ ห้องประชาสัมพันธ์ ด้านหน้าศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ
2) ยื่นคำขอรับกล้าหญ้าแฝกกับเจ้าหน้าที่ที่จุดบริการ
3) เจ้าหน้าที่รวบรวมและตรวจสอบข้อมูลใบขอรับกล้าหญ้าแฝก
4) เจ้าหน้าที่ติดต่อกลับเพื่อนัดวันและเวลาในการมารับกล้าหญ้าแฝก ที่แปลงสาธิตการปลูกหญ้าแฝก งานพัฒนาที่ดิน ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
แผนที่แสดงตำแหน่งที่ตั้งจุดกรอกข้อมูลใบขอรับกล้าหญ้าแฝกและยื่นคำร้อง และจุดรับกล้าหญ้าแฝก
เรียบเรียงและเขียนโดย
นางสาวดวงใจ วัยเจริญ นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ
นายสุนทร ช่วยศิริ เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน
นายเด็ด อ่อนหวาน เจ้าหน้าที่การเกษตร
นายธนดล วรุณศรี นักวิชาการเกษตร
เอกสารอ้างอิง
กรมพัฒนาที่ดิน. 2547. จอมปราชญ์แห่งการพัฒนาที่ดิน. 69 หน้า
กรมพัฒนาที่ดิน. (2021). หญ้าแฝกเฉลิมพระเกียรติ, จาก https://www.saintlouis.or.th/article/show/57e8e49b0478820001000004
รจนา จันทราสา. 2558. การออกแบบผลิตภัณฑ์หัตถกรรมหญ้าแฝก. 131 หน้า
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ. 2555. จอมปราชญ์แห่งการพัฒนา กำแพงธรรมชาติที่มีชีวิต. 43 หน้า
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ. (2021). หญ้าแฝก, จาก http://km.rdpb.go.th/Knowledge/View/75