“ดินที่เหมาะสมสำหรับการเกษตรกรรม ต้องมีคุณสมบัติต่าง ๆ ดังนี้ มีแร่ธาตุที่เรียกว่า ปุ๋ยส่วนประกอบสำคัญคือ 1) N (nitrogen) ในรูป nitrate 2) P (phosphorus) ในรูป phosphate 3) K (potassium) และแร่ธาตุ อื่น ๆ O H Mg Fe มีระดับ เปรี้ยว ด่าง ใกล้เป็นกลาง (pH 7) มีความเค็มต่ำ มีจุลินทรีย์ มีความชื้นพอเหมาะ (ไม่แห้ง ไม่แฉะ) มีความโปร่งพอเหมาะ (ไม่แข็ง)”
พระอักษรในเอกสารพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
จากพระอักษรในเอกสารพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรดังกล่าว งานพัฒนาที่ดิน ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้น้อมนำแนวทางการปรับปรุงดินให้มีคุณสมบัติที่เหมาะสมสำหรับการเกษตร โดยมีจุดเรียนรู้และสาธิตการทำน้ำหมักชีวภาพ เพื่อสาธิตและถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการใช้เทคโนโลยีทางชีวภาพจากการใช้ประโยชนจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพทางการเกษตรในการย่อยวัตถุดิบที่เหลือใช้ทางการเกษตรเพื่อนำมาปรับปรุงบำรุงดิน และส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืชในรูปแบบของน้ำหมักชีวภาพ ให้แก่เกษตรกรและผู้ที่สนใจทั่วไป ได้มีความรู้ความเข้าใจในการผลิตน้ำหมักชีวภาพ และสามารถนำเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรในพื้นที่ของตนกลับมาใช้ประโยชน์ได้ ทั้งยังช่วยลดต้นทุนการผลิต ปลอดภัยต่อผู้ผลิต และผู้บริโภค
ความหมายของน้ำหมักชีวภาพ
น้ำหมักชีวภาพ หมายถึง ของเหลวที่ได้จากการย่อยสลายวัสดุเหลือใช้จากพืชหรือสัตว์ โดยอาศัยกิจกรรมของจุลินทรีย์ทั้งในสภาพที่มีออกซิเจนและมีออกซิเจนน้อยมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการย่อย จุลินทรีย์ส่วนใหญ่ที่ใช้คือ ยีสต์และแบคทีเรีย ผลิตภัณฑ์ที่ได้ประกอบด้วยฮอร์โมนพืช เช่น ออกซิน จิบเบอเรลลิน และไซโตไคนิน กรดอินทรีย์ต่างๆ เช่น กรดอะมิโน กรดแลคติก กรดฮิวมิก และกรดอะซิติก รวมถึงธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช แต่พบในปริมาณมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับวัสดุที่ใช้ในการทำน้ำหมักชีวภาพ
คุณสมบัติของน้ำหมักชีวภาพ
1. ความเป็นกรด-ด่าง (pH)
– น้ำหมักชีวภาพมักจะมีความเป็นกรดน้อยกว่า 4
– เกิดขึ้นจากกิจกรรมของจุลินทรีย์พวกผลิตกรดอะซิติกหรือกรดแลคติก
2. ค่าการนำไฟฟ้า (Electrical Conductivity: EC)
– แสดงถึงปริมาณความเข้มข้นของธาตุอาหารและสารประกอบอนินทรีย์ต่างๆ ที่มีอยู่ในน้ำหมักชีวภาพ ค่าการนำไฟฟ้าจะสูงขึ้นตามระยะเวลาที่หมัก
3. กรดฮิวมิก (Humic Acid)
– น้ำหมักชีวภาพทุกชนิดมีกรดฮิวมิกอยู่ในองค์ประกอบมีปริมาณแตกต่างกันในแต่ละชนิดของน้ำหมักชีวภาพ
– กรดฮิวมิกจะมีคุณสมบัติคล้ายกับฮอร์โมนพืช บริเวณที่มีอินทรียวัตถุสูงหรือมีสารฮิวมิกมากจะมีปริมาณฮอร์โมนออกซินอยู่มาก (ช่วยเร่งอัตราการเจริญเติบโตของรากและลำต้นพืช)
4. กรดอินทรีย์
การที่น้ำหมักมีค่าเป็นกรดจัดแสดงว่ามีกรดอินทรีย์ชนิดต่างๆ เกิดขึ้นในระหว่างกระบานการหมัก กรดอินทรีย์ดังกล่าว ได้แก่ กรดอะซิติก กรดแลคติก โดยกรดอินทรีย์เหล่านี้มีประโยชน์ดังต่อไปนี้
– เป็นแหล่งอาหารของจุลินทรีย์ในกระบวนการหมัก
– ช่วยควบคุมการเจริญของจุลินทรีย์กลุ่มที่ทำให้เกิดการเน่าเสียและจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรคบางชนิด
– ยับยั้งการเกิดกิจกรรมของจุลินทรีย์ที่เปลี่ยนรูปไนโตรเจนเป็นแอมโมเนียซึ่งสูญเสียไปได้ง่ายจากการระเหย
– ช่วยละลายสารประกอบอนินทรีย์ของแร่ธาตุบางชนิดให้อยู่ในรูปที่เป็นประโยชน์ได้ (กรมพัฒนาที่ดิน, 2549)
ประโยชน์ของน้ำหมักชีวภาพ
จุลินทรีย์ในน้ำหมักชีวภาพช่วยย่อยสลายอินทรียวัตถุให้กลายเป็นธาตุอาหารของพืชโดยเร็ว
2. การใส่ลงดินช่วยเปลี่ยนรูปธาตุอาหารพืชในดินให้อยู่ในรูปที่พืชดูดซึมและนำไปใช้ดีขึ้น
3. การใช้น้ำหมักชีวภาพร่วมกับการใส่อินทรียวัตถุหรือปุ๋ยอินทรีย์ ช่วยปรับคุณสมบัติทางกายภาพในดินช่วยเพิ่มปริมาณความหลากหลายของจุลินทรีย์
4. มีฮอร์โมนพืชและธาตุอาหารพืช ทำให้พืชเจริญเติบโตได้ดี (กรมพัฒนาที่ดิน, 2549)
จุลินทรีย์ในน้ำหมักชีวภาพ
จุลินทรีย์เป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก มีทั้งเซลล์เดียวและหลายเซลล์ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปทำหน้าที่เฉพาะเหมือนสิ่งมีชีวิตชั้นสูง จุลินทรีย์มีหลายประเภท ได้แก่ แบคทีเรีย รา โปรโตซัว สาหร่าย ไวรัส โดยจุลินทรีย์ที่พบในน้ำหมักชีวภาพ มีดังนี้ (กรมวิชาการเกษตร, 2547)
1. แบคทีเรีย
มีขนาดเล็ก ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าต้องใช้กล้องจุลทรรศน์ เป็นจุลินทรีย์ที่พบมากที่สุดในน้ำหมักชีวภาพ เมื่อเก็บไว้ในสภาพหมักเป็นระยะเวลา 1 ปี ก็ยังคงพบแบคทีเรียอยู่ แต่ความหลากหลายของสาพันธุ์จะลดลงตามระยะเวลาหมัก แบคทีเรียส่วนใหญ่ที่พบเป็นแกรมบวกในสกุล Bacillus และ Lactobacillus
– แบคทีเรียจะย่อยสลายวัสดุอินทรีย์ทำให้สารประกอบโมเลกุลใหญ่ๆ เล็กลง และปลดปล่อยธาตุ อาหารออกมาในรูปที่พืชสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้
– แบคทีเรียกลุ่มผลิตกรดแลคติค กรดฟอร์มิค เอทานอล และคาร์บอนไดออกไซต์
– แบคทีเรียหลายสายพันธุ์สามารถละลายตะกอนฟอสเฟตให้อยู่ในรูปที่เป็นประโยชน์
– แบคทีเรียในน้ำหมักชีวภาพหลายสายพันธุ์มีประสิทธิภาพในการยับยั้งจุลินทรีย์ที่เป็นสาเหตุโรคพืช บางชนิด เช่น Lactobacillus spp. สร้างสารฆ่าแบคทีเรียที่ก่อโรค หรือแบคทีเรียก่อให้เกิดการบูด ของอาหาร
– แบคทีเรียหลายสายพันธุ์ เช่น สกุล Bacillus สังเคราะห์ฮอร์โมนพืชกลุ่มออกซิน จิบเบอเรลลิน และ ไซโทไคนิน ฯลฯ
2. รา
ราเป็นเซลล์ที่นิวเคลียสมีเยื่อหุ้ม ต่างจากแบคทีเรียที่ไม่มีเยื่อหุ้ม รามีขนาดใหญ่กว่าแบคทีเรีย รามีทั้งที่เป็นยีสต์ (ชนิดเดี่ยว) เช่น Saccharomyces และราที่มีรูปร่างเป็นเส้นใย (หลายเซลล์) เช่น Phycomycetes ราในสกลุ Mucor ราที่พบในน้ำหมักชีวภาพเป็นประเภทยีสต์ และจำนวนยีสต์จะลดลงตามระยะเวลาหมัก
– ยีสต์ พบได้ตามธรรมชาติบนผิวผลไม้และใบไม้ ยีสต์หมักน้ำตาลเป็นเอทิลแอลกอฮอล์ และคาร์บอนไดออกไซต์
– ราเส้นใย เนื่องจากเป็นจุลินทรีย์ที่ต้องการอากาศ แต่ในน้ำหมักชีวภาพจะมีออกซิเจนน้อย ดังนั้นจะพบราเส้นใยอยู่บนผิวหน้าของน้ำหมักชีวภาพ
วัตถุดิบที่ใช้สำหรับทำน้ำหมักชีวภาพ
1. วัตถุดิบที่ใช้ในการหมัก ควรเลือกใช้วัตถุไม่มีการเน่าเสีย มีทั้งวัตถุดิบที่มาจากพืชและสัตว์ เช่น ปลา หอยเชอรี่ นม ผัก ผลไม้ สมุนไพร และเศษอาหาร โดยจะมุ่งเน้นให้ใช้วัตถุดิบที่สามารถหาได้ง่าย และมีต้นทุนต่ำ หากใช้วัสดุเหลือใช้ที่มีอยู่แล้ว ก็จะสามารถช่วยลดต้นทุนในการผลิตได้
ตัวอย่างวัตถุดิบที่มาจากพืช
ตัวอย่างวัตถุดิบที่มาจากสัตว์
2. จุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพในการย่อยโปรตีน ไขมัน ช่วยลดกลิ่นเหม็นระหว่างการหมักและเพิ่มการละลายธาตุอาหารในการหมัก จุลินทรีย์ส่วนใหญ่ที่ใช้ในการผลิตน้ำหมักชีวภาพจะอยู่ในกลุ่มของ ยีสต์ และแบคทีเรีย เช่น สารเร่งซุปเปอร์ พด. 2, ผลิตภัณฑ์สารเร่งซุปเปอร์ พด.6 และผลิตภัณฑ์สารเร่งซุปเปอร์ พด.7
3. สารให้ความหวาน สารให้ความหวานจะเป็นแหล่งอาหารและพลังงานให้กับการเกิดกิจกรรมของจุลินทรีย์ในการผลิตน้ำหมัก เช่น น้ำตาลทรายขาว น้ำตาลทรายแดง น้ำตาลปี๊บ อ้อย ลำไย กากน้ำตาล สารให้ความหวานชนิดต่างกันจะมีค่าความหวานที่แตกต่างกัน ปริมาณการใช้จึงมีความแตกต่างกันดังนี้
เมื่อเทียบการใช้กากน้ำตาล 10 กิโลกรัม
– จะใช้น้ำตาลทราย/น้ำตาลปี๊บ 5 กิโลกรัม
– น้ำอ้อย 10 ลิตร
– ลำไย 20 กิโลกรัม
– ฝักจามจุรี 30 กิโลกรัม
ธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช
พืชทุกชนิดต้องการธาตุอาหารเพื่อใช้ในการเจรญเติบโต และให้ผลผลิต แต่ละธาตุมีความจำเป็นต่อพืชเท่าๆ กัน แตกต่างกันที่ปริมาณที่พืชต้องการ หากพืชไม่ได้รับธาตุอาหารในปริมาณที่เหมาะสมจะแสดงอาการผิดปกติ ธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืชมีทั้งหมด 16 ธาตุ มี 3 ธาตุ ที่พืชได้มาจากอากาศและน้ำ คือ คาร์บอน ( C) ไฮโดรเจน (H) และออกซิเจน (O) ส่วนอีก 13 ธาตุนั้น พืชต้องดูดดึงขึ้นมาจากดิน ซึ่งธาตุเหล่านี้ได้มาจากการผุพงสลายตัวของส่วนที่เป็นอนินทรียวัตถุและอินทรียวัตถุหรือฮิวมัสในดิน สามารถแบ่งตามปริมาณที่พืชต้องการใช้ได้ เป็น 2 กลุ่ม คือ มหธาตุ และจุลธาตุ
1. มหธาตุ (macronutrients)
1.1. ธาตุอาหารหลัก หรือธาตุปุ๋ย เป็นธาตุอาหารที่พืชต้องการปริมาณมาก
– ไนโตรเจน (N) เป็นองค์ประกอบของกรดอะมิโน โปรตีน คลอโรฟิลด์ และเอ็นไซม์บางชนิด ช่วยทำให้พืชมีสีเขียว มีความแข็งแรง มีการเจริญเติบโตทางใบ ยอด ลำตัน
– ฟอสฟอรัส (P) เป็นองค์ประกอบของกรดนิวคลีอิก และนิวคลีโอโปรตีน ช่วยในการเจริญเติบโตของราก จำเป็นต่อการออกดแกติดเมล็ด และการพัฒนาของเมล็ดหรือผล
– โพแทสเซียม (K) เป็นองค์ประกอบสำคัญการสร้างโปรตีน แป้ง ช่วยในการลำเลียงแป้งและน้ำตาล ช่วยเพิ่มขนาดผลผลิต เมล็ด และปรับปรุงคุณภาพของผลิต
1.2. ธาตุอาหารรอง
– กำมะถัน (S) เป็นองค์ประกอบของกรดอะมิโน และโปรตีน เกี่ยวข้องกับกิจกกรมสร้างวิตามิน และโคเอ็นไซม์ เอ ช่วยในการสร้างน้ำมันในพืช
– แคลเซียม (Ca) เป็นส่วนประกอบของโครงสร้างที่สำคัญของผนังเซลล์ ช่วยให้ผนังเซลล์แข็งแรง การผสมเกสร และการงอกของเมล็ด
– แมกนีเซียม (Mg) เป็นองค์ประกอบของคลอโรฟิลด์ กระตุ้นการทำงานของเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการสังเคราะห์แสง และโปรตีน ช่วยเสริมสร้างการดูดใช้และการลำเลียงธาตุฟอสฟอรัส ช่วยเคลื่อนย้ายน้ำตาลในพืช
2. จุลธาตุ หรือ ธาตุอาหารเสริม (micronutrients)
เป็นกลุ่มธาตุอาหารที่พืชต้องการปริมาณน้อยกว่าเมื่อเทียบกับธาตุอาหารหลัก ได้แก่
– เหล็ก (Fe) ช่วยในการสังเคราะห์คลอโรฟิลล์ มีบทบาทสำคัญในการสังเคราะห์แสงและหายใจ ถ้าขาดธาตุนี้ใบอ่อนจะมีสีขาวซีดในขณะที่ใบแก่ยังเขียวสด
– แมงกานีส (Mn) ช่วยในการสังเคราะห์แสงและการทำงานของเอนไซม์บางชนิด ถ้าขาดธาตุนี้ใบอ่อนจะมีสีเหลืองในขณะที่เส้นใบยังเขียว ต่อมาใบที่มีอาการดังกล่าวจะเหี่ยวแล้วร่วงหล่น
– สังกะสี (Zn) ช่วยในการสังเคราะห์ฮอร์โมนออกซิน คลอโรฟิลล์ และแป้ง ถ้าขาดธาตุนี้ใบอ่อนจะมีสีเหลืองซีดและปรากฏสีขาวๆ ประปรายตามแผ่นใบ โดยเส้นใบยังเขียว รากสั้นไม่เจริญตามปกติ
– ทองแดง (Cu) ช่วยในการสังเคราะห์คลอโรฟิลล์ การหายใจ การใช้โปรตีนและแป้ง กระตุ้นการทำงานของเอนไซม์บางชนิด ถ้าพืชขาดธาตุนี้ ตายอดจะชะงักการเจริญเติบโตและกลายเป็นสีดำ ใบอ่อนเหลือง และพืชทั้งต้นจะชะงักการเจริญเติบโต
– โบรอน (B) ช่วยในการออกดอกและการผสมเกสร มีบทบาทสำคัญในการติดผลและการเคลื่อนย้ายน้ำตาลมาสู่ผล การเคลื่อนย้ายของฮอร์โมน การใช้ประโยชน์จากไนโตรเจนและการแบ่งเซลล์ ถ้าพืชขาดธาตุนี้ ตายอดจะตายแล้วเริ่มมีตาข้าง แต่ตาข้างก็จะตายอีก ลำต้นไม่ค่อยยืดตัว กิ่งและใบจึงชิดกัน ใบเล็ก หนา โค้งและเปราะ
– โมลิบดีนัม (Mo) ช่วยให้พืชใช้ไนโตรเจนให้เป็นประโยชน์และเกี่ยวข้องกับการสังเคราะห์โปรตีน ถ้าขาดธาตุนี้พืชจะมีอาการคล้ายขาดไนโตรเจน ใบมีลักษณะโค้งคล้ายถ้วย ปรากฏจุดเหลืองๆ ตามแผ่นใบ
– คลอรีน (Cl) มีบทบาทบางประการเกี่ยวกับฮอร์โมนในพืช ถ้าขาดธาตุนี้พืชจะเหี่ยวง่าย ใบสีซีด และบางส่วนแห้งตาย
ธาตุอาหารต่าง ๆ เหล่านี้มีความสำคัญต่อกิจกรรมของเซลล์ ตั้งแต่กระบวนการสร้างคลอโรฟิลล์ กระบวนการสังเคราะห์แสง เป็นองค์ประกอบของเอนไซม์ หากพืชได้รับธาตุอาหารในปริมาณที่ไม่เพียงพอจะแสดงอาหารขาดธาตุอาหารในลักษณะที่แตกต่างกัน กรมวิชาการเกษตร (2547) และคณาจารย์ภาควิชาปฐพีวิทยา (2541)
ตารางที่ 1 แสดงปริมาณธาตุอาหารที่พบในน้ำหมักสูตรต่าง ๆ (กรมพัฒนาที่ดิน, 2549)
ชนิดน้ำหมักชีวภาพ |
ธาตุอาหาร (เปอร์เซ็นต์) |
|||||
ไนโตรเจน | ฟอสฟอรัส | โพแทสเซียม | แคลเซียม | แมกนีเซียม | กำมะถัน | |
น้ำหมักชีวภาพจากปลา | 0.98 | 1.12 | 1.03 | 1.66 | 0.24 | 0.20 |
น้ำหมักชีวภาพจากผัก | 0.14 | 0.30 | 0.40 | 0.68 | 0.26 | 0.27 |
น้ำหมักชีวภาพจากผลไม้รวม | 0.27 | 0.05 | 0.63 | 0.58 | 0.01 | 0.17 |
น้ำหมักชีวภาพจากหอยเชอรี่ | 0.49 | 0.31 | 0.59 | 0.21 | 0.09 | 0.19 |
น้ำหมักชีวภาพจากน้ำนม | 0.84 | 0.01 | 0.00 | 0.00 | 0.00 | 0.00 |
ฮอร์โมนพืชที่มีบทบาทต่อการเจริญเติบโตของพืช
ฮอร์โมนพืช (Plant Hormones) คือ สารอินทรีย์ที่พืชสร้างขึ้นเองตามธรรมชาติในปริมาณน้อย และมักมีการเคลื่อนย้ายจากเนื้อเยื่อที่เป็นแหล่งสร้างไปมีผลควบคุมการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางสรีระวิทยาของเนื้อเยื่อใบบริเวณอื่นของพืชนั้นๆ ได้ ตามลักษณะทางพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม (กรมวิชาการเกษตร, 2547)
1. ออกซิน (auxin) ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการขยายของเซลล์ การเกิดราก การขยายขนาดผล ป้องกันการหลุดร่วงของใบ ดอก ผล การโค้งงอเข้าหาแสง อีกทั้งยังยับยั้งการแตกตาข้าง ประโยชน์ของสารกลุ่มนี้ จะกระตุ้นการเกิด และการเจริญของราก เร่งการออกดอกพืชบางชนิด เช่น สับปะรด ป้องกันการหลุดร่วงของผล
2. จิบเบอเรลลิน (gibberellins) ที่หน้าที่เกี่ยวข้องกับการยืดตัว และกระตุ้นการแบ่งตัวของเซลล์ สามารถกระตุ้นการเจริญเติบโตของพืชได้ทั้งต้น กระตุ้นการงอกเมล็ด
3. ไซโตไคนิน (cytokinins) มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการแบ่งเซลล์ของพืช การสร้างอวัยวะ กระตุ้นการแตกตาข้าง การป้องกันการสลายของคลอโรฟิลล์ช่วยให้พืชผักสดนานกว่าปกติ ชะลอการแก่ของพืช
4. กรดฮิวมิก (humic acid) เป็นสารที่มีส่วนช่วยในการปรับปรุงดิน ทั้งสมบัติทางด้านกายภาพและเคมี โดยช่วยทำให้ดินโปร่งขึ้นในดินเหนียว ช่วยรักษาโครงสร้างของดินทำให้การอุ้มน้ำและระบายอากาศดี ช่วยในการดูดซับธาตุอาหารที่มีประจุบวก และช่วยลำเลียงธาตุอาหารจากดินไปสู่พืช (กรมพัฒนาที่ดิน, 2559)
ตารางที่ 2 แสดงปริมาณฮอร์โมนและกรดฮิวมิกในน้ำหมักชีวภาพสูตรต่าง ๆ (กรมพัฒนาที่ดิน, 2549)
ชนิดน้ำหมักชีวภาพ |
ฮอร์โมน (มิลลิกรัมต่อลิตร) |
กรดฮิวมิก (เปอร์เซ็น) |
||
ออกซิน | จิบเบอเรลลิน | ไซโตไคนิน | ||
น้ำหมักชีวภาพจากปลา | 4.01 | 33.07 | 3.05 | 3.36 |
น้ำหมักชีวภาพจากหอยเชอรี่ | 6.85 | 37.14 | 13.62 | 3.07 |
น้ำหมักชีวภาพจากผักประเภทกินผล | 4.43 | 16.57 | 22.64 | 0.95 |
น้ำหมักชีวภาพจากผักประเภทกินใบ | 0.27 | 28.93 | 11.28 | 0.83 |
น้ำหมักชีวภาพจากน้ำนมดิบและผลไม้ | 48.04 | 360.6 | 25.6 | 0.87 |
น้ำหมักชีวภาพจากน้ำนมดิบ | 1.63 | 17.18 | 15.12 | 1.39 |
น้ำหมักชีวภาพจากพืชสมุนไพร | 1.34 | 17.4 | 23.81 | 1.01 |
สูตรการทำน้ำหมักชีวภาพเพื่อบำรุงพืช
สูตรที่ 1 น้ำหมักชีวภาพจากผักและผลไม้
สัดส่วน ผักผลไม้ : สารให้ความหวาน (กากน้ำตาล) : น้ำ = 4 : 1 : 1 ดังนี้
วัสดุผักและผลไม้ 40 กิโลกรัม
สารให้ความหวาน (น้ำตาลทราย/กากน้ำตาล) 5 กิโลกรัม/10 กิโลกรัม
น้ำ 10 ลิตร
สารเร่งซุปเปอร์ พด.2 1 ซอง
ขั้นตอนการผลิต
![]() |
![]() |
![]() |
1. หั่นหรือสับวัสดุพืชให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ เพื่อให้วัสดุเกิดการย่อยได้ง่ายขึ้น | 2. นำผักที่เตรียมไว้ใส่ในภาชนะหมักทึบแสง และมีฝาปิด | 3. ผสมกากน้ำตาลกับน้ำที่เตรียมไว้ แล้วเทใส่ถังหมัก |
![]() |
![]() |
![]() |
4. นำสารเร่งซุปเปอร์ พด.2 ใส่ลงไปในถังหมัก | 5. คนให้เข้ากัน ปิดฝาไม่ต้องสนิทและตั้งไว้ในที่ร่ม หมักไว้ประมาณ 7-10 วัน ในระหว่างการหมักให้คนน้ำหมักทุก ๆวัน เพื่อระบายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และทำให้ส่วนผสมคลุกเคล้ากัน | 6. เมื่อกระบวนการหมักเกิดขึ้นเสร็จสิ้นแล้ว นำไปกรองเอาเศษวัสดุที่ถูกย่อยไม่หมดออก แล้วเก็บส่วนที่เป็นของเหลวไว้ใช้งาน |
สูตรที่ 2 น้ำหมักชีวภาพจากปลา หรือหอยเชอรี่
สัดส่วน จากสัตว์+ผลไม้: สารให้ความหวาน (กากน้ำตาล): น้ำ = (3+1) : 1 : 1 ดังนี้
วัสดุ
ปลาหรือหอยเชอรี่ 30 กิโลกรัม
ผลไม้ 10 กิโลกรัม
สารให้ความหวาน (น้ำตาลทราย/กากน้ำตาล) 5 กิโลกรัม/10 กิโลกรัม
น้ำ 10 ลิตร (หรือให้ท่วมวัสดุหมัก)
สารเร่งซุปเปอร์ พด.2 1 ซอง
ขั้นตอนการผลิต
1. หั่นหรือสับวัสดุให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ หากเป็นหอยเชอรี่ควรทุบก่อน เพื่อให้วัสดุเกิดการย่อยได้ง่ายขึ้น สามารถหมักปลาทั้งตัวได้โดยที่ไม่ต้องหั่นก่อน แต่จะใช้ระยะเวลาการหมักนานมากกว่าปลาชิ้นเล็ก สำหรับหอยเชอรี่แนะนำให้ทุบก่อนเพื่อใช้วัสดุถูกย่อยได้ง่ายขึ้น
2. นำปลาหรือหอยเชอรี่ และผลไม้ใส่ถังหมัก แนะนำให้ใช้สับประรดหรือเปลือกสับปะรด เพราะจะมีเอนไซม์โบรมีเลน (Bromelain) ช่วยย่อยให้ชิ้นส่วนของปลาหรือหอยเชอรี่ย่อยได้รวดเร็วขึ้น ทั้งยังช่วยลดกลิ่นเหม็นที่เกิดขึ้นระหว่างกระบวนการหมัก
3. เทกากน้ำตาลจนท่วมวัสดุแล้วหาของมาทับวัสดุให้จมอยู่ ไม่ให้ส่วนของวัสดุโผล่พ้นจากกากน้ำตาล เพื่อดึงน้ำออกจากเซลล์ของวัสดุ ลดการเน่าเสีย
![]() |
![]() |
ลักษณะวัสดุก่อนใส่กากน้ำตาล | ลักษณะวัสดุหลังใส่กากน้ำตาล |
4. ปิดฝาไม่ต้องสนิทและตั้งไว้ในที่ร่มประมาณ 4 วัน
5. เมื่อครบ 4 วันให้เติมน้ำ และสารละลายสารเร่งซุป้ปอร์ พด.2 ลงไปในถัง (น้ำ 1 ลิตร ต่อ สารเร่งซุปเปอร์ พด.2 1 ซอง)
6. ปิดฝาไม่ต้องสนิทและตั้งไว้ในที่ร่ม ระยะเวลาการหมัก 1-2 เดือน โดยหมั่นเพื่อระบายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และทำให้ส่วนผสมคลุกเคล้ากัน
7. เมื่อกระบวนการหมักเกิดขึ้นเสร็จสิ้นแล้ว นำไปกรองเอาเศษวัสดุที่ถูกย่อยไม่หมดออก แล้วเก็บส่วนที่เป็นของเหลวไว้ใช้งาน
สูตร 3 น้ำหมักชีวภาพจากนม
วัสดุ
นมสด 10 กิโลกรัม
สารให้ความหวาน (น้ำตาลทราย/กากน้ำตาล) 1 กิโลกรัม/3 กิโลกรัม
ลูกแป้งข้าวหมาก 1 ลูก
น้ำตาลทรายแดง 1 กิโลกรัม
น้ำ 10 ลิตร
วิธีการผลิต
1. นำนมสดตวงใส่ภาชนะให้ได้ 10 ลิตร
2. เทนมสดลงถังหมัก
3. จากนั้นเติมน้ำตาลทรายแดง 1 กิโลกรัม
4. เติมจุลินทรีย์หน่อกล้วย 200 ซีซี หรือสารเร่งซุปเปอร์ พด.2 จำนวน 1 ซอง
5. คนส่วนผสมทุกอย่างให้เข้ากันหมักทิ้งไว้ 14 วัน
6. ในกระบวนการหมักจะเกิดการแยกชั้นเป็น 2 ส่วน โดยด้านบนเป็นชั้นไข ด้านล่างเป็นน้ำใส ซึ่งสามารถใช้ประโยชน์ทั้ง 2 ส่วน
อัตราและวิธีการใช้
1. เป็นน้ำยาเร่งราก
ตักชั้นไขที่เกิดด้านบน 2 ช้อนโต๊ะ เติมน้ำ 10 ลิตร ผสมให้เข้ากัน แล้วนำกิ่งพันธุ์แช่ไว้ประมาณ 10 นาที แล้วจึงนำไปปลูกในถุงปักชำ (หากยังไม่ใช้สามารถตักชั้นไขเก็บรักษาใยตู้เย็นไว้ได้)
2. ใช้บำรุงต้น กระตุ้นยอดอ่อน
ใช้น้ำหมักฯที่เป็นชั้นน้ำใสด้านล่าง อัตรา 10-20 ซีซี ผสมน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นต้นพืชสัปดาห์ละครั้ง
ตารางที่ 3 อัตราการใช้และวิธีการใช้ประโยชน์น้ำหมักชีวภาพในพื้นที่การเกษตร
พื้นที่การเกษตร | อัตราการใช้น้ำหมักชีวภาพ | วิธีการใช้ |
ข้าว | ||
แช่เมล็ดพันธุ์ข้าว | น้ำหมักชีวภาพ 20 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร /เมล็ดข้าว 20 กิโลกรัม | แช่เมล็ดข้าวเป็นเวลา 12 ชั่วโมง แล้งพักไว้ 1 วัน จึงนำไปปลูก |
ช่วงเตรียมดิน | น้ำหมักชีวภาพ 5 ลิตร/ไร่ | ฉีดพ่นหรือรดลงดินระหว่างเตรียมดิน หรือก่อนไถกลบตอซัง |
ช่วงการเจริญเติบโต | น้ำหมักชีวภาพ 15 ลิตร/ไร่ เมื่ออายุ 30-50 และ 60 วัน | ฉีดพ่น หรือเทลงในนาข้าว |
พืชไร่ | ||
ช่วงการเจริญเติบโต | น้ำหมักชีวภาพ 200 ซีซี/น้ำ 100 ลิตร ในพื้นที่ 1 ไร่ | ฉีดพ่นหรือรดลงดินทุก ๆ 10 วัน ก่อนออกดอกและช่วงติดผล |
แช่ท่อนพันธุ์อ้อยและมันสำปะหลัง | น้ำหมักชีวภาพ 40 ซีซี/น้ำ 20ลิตร | แช่ท่อนพันธุ์อ้อยหรือมันสำปะหลังเป็นเวลา 2 ชั่วโมง จึงลงปลูก |
ไม้ดอก | ||
ช่วงการเจริญเติบโต | น้ำหมักชีวภาพจากนม 500 ซีซี/น้ำ 250 ลิตร ในพื้นที่ 1 ไร่ | ฉีดพ่นหรือรดลงดินทุก 10 วัน |
ช่วงการออกดอก ติดผล | น้ำหมักชีวภาพจากนม 1 ลิตร/น้ำ 1000 ลิตร ในพื้นที่ 10 ไร่ | ฉีดพ่นหรือรดลงดินทุก 10 วัน |
ไม้ผล | ||
ช่วงการออกดอก ติดผล | น้ำหมักชีวภาพจากปลา 500 ซีซี/น้ำ 250 ลิตร ในพื้นที่ 1 ไร่ หรือ น้ำหมักชีวภาพ 1 ลิตร/น้ำ 500 ลิตร ในพื้นที่ 2 ไร่ | ฉีดพ่นหรือรดลงดินทุก 10 วัน |
ทำให้ขั้วเหนียวไม่หลุดออกจากกันง่าย ยืดอายุผลผลิตให้ยาวนานยิ่งขึ้น | น้ำหมักชีวภาพจากปลา 500 ซีซี/น้ำ 250 ลิตร ในพื้นที่ 1 ไร่ หรือ น้ำหมักชีวภาพ 1 ลิตร/น้ำ 500 ลิตร ในพื้นที่ 2 ไร่ | ฉีดพ่นหรือรดลงดินทุก 10 วัน |
ผัก | ||
น้ำหมักชีวภาพจากผักและผลไม้ 5 ซีซี/น้ำ 5 ลิตร ในพื้นที่ 80 ตารางเมตร | ฉีดพ่นหรือรดลงดินทุก 10 วัน |
หมายเหตุ : 10 ซีซี เท่ากับ 1 ช้อนโต๊ะ, 1 ปี๊บ เท่ากับ 20 ลิตร
สูตร 4 น้ำหมักชีวภาพจากไข่
วัสดุ
ไข่ 2 กิโลกรัม
ยาคูลท์ 1 ขวด
ลูกแป้งข้าวหมาก 1 ลูก
น้ำตาลทรายแดง 1 กิโลกรัม
น้ำ 10 ลิตร
วิธีการผลิต
![]() |
![]() |
![]() |
1. ล้างไข่ที่เตรียมไว้ให้สะอาด |
2. ตอกไข่ใส่ถังหมักที่เตรียมไว้และตีให้เข้ากัน |
3. นำเปลือกไข่ทุบให้ละเอียด หรือตำในครก และใส่ถังหมัก |
![]() |
![]() |
![]() |
4. เติมยาคูลท์ 1 ขวด |
5. เติมลูกแป้งข้าวหมากที่บดละเอียดแล้ว 1 ลูก และน้ำตาลทรายแดง คนให้ละลายเข้ากันกับไข่ |
6. เติมน้ำสะอาดไป 1 ลิตร คนให้คลุกเคล้าเข้ากัน หมักทิ้งไว้ 14 วัน จึงนำไปใช้ |
อัตราและวิธีการใช้
1. น้ำหมักชีวภาพจากไข่ 10-20 ซีซี ผสมน้ำหมักชีวภาพจากหน่อกล้วย 10-20 ซีซีในน้ำ 20 ลิตร รดลงดินหรือฉีดพ่นได้กับพืชทุกชนิดสัปดาห์ละครั้ง
2. ใช้กับสัตว์ 1 ซีซีต่อน้ำ 5 ลิตร คลุกในหัวอาหารหรือผสมน้ำ
สูตรการทำน้ำหมักชีวภาพเพื่อบำบัดน้ำเสีย และกำจัดกลิ่นเหม็น
เป็นการผลิตน้ำหมักชีวภาพร่วมกับการจุลินทรีย์จากสารเร่งซุปเปอร์ พด.6 ซึ่งเป็นเชื้อจุลินทรีย์ที่มีคุณสมบัติในการเพิ่มประสิทธิภาพการหมักเศษอาหารในสภาพที่ไม่มีออกซิเจน เพื่อผลิตสารสำหรับทำความสะอาดคอกสัตว์ บำบัดน้ำเสีย และลดกลิ่นเหม็นตามท่อระบายน้ำ
วิธีที่ 1 การผลิตจากเศษอาหารในครัวเรือน
วัสดุ
เศษอาหารในครัวเรือน 40 กิโลกรัม
สารให้ความหวาน (น้ำตาลทราย/กากน้ำตาล) 5 กิโลกรัม/10
น้ำ 10 ลิตร
สารเร่ง พด.6 จำนวน 1 ซอง
วิธีการผลิต
![]() |
![]() |
![]() |
1. นำเศษอาหารที่เตรียมไว้ใส่ลงในถังน้ำหมัก |
2. ใส่กากน้ำตาลลงในถังน้ำหมัก |
3. ใส่น้ำลงในถังน้ำหมัก |
![]() |
![]() |
![]() |
4. ละลายสารเร่งซุปเปอร์ พด.6 ลงในน้ำ 1 ลิตร แล้วคนต่อเนื่อง 5 นาที และเทผสมลงในถังหมัก |
5. คนให้เข้ากัน ปิดฝาไม่ต้องสนิทและตั้งทิ้งไว้ในที่ร่ม ระยะเวลาที่ใช้ในการหมัก 20-30 วัน |
6. ระหว่างการหมักให้คนทุก ๆวัน เมื่อหมักเสร็จสมบูรณ์กรองนำเศษวัสดุออก และนำน้ำหมักไปใช้ได้ |
วิธีที่ 2 การผลิตโดยการขยายเชื้อสารเร่งซุปเปอร์ พด.6
วัสดุ
น้ำ 50 กิโลกรัม
สารให้ความหวาน (น้ำตาลทรายหรือกากน้ำตาล) 5 กิโลกรัม/10 กิโลกรัม
สารเร่ง พด.6 จำนวน 1 ซอง
วิธีการผลิต
![]() |
![]() |
![]() |
1. เทน้ำที่เตรียมไว้ใส่ถัง |
2. ผสมน้ำกับสารให้ความหวานในถังหมักคนให้เข้ากัน |
3. ละลายสารเร่งซุปเปอร์ พด.6 ลงในน้ำ 1 ลิตร คนต่อเนื่องประมาณ 5-10 นาที |
![]() |
![]() |
|
4. ใส่สารละลายสารเร่งซุปเปอร์ พด.6 |
5. คนวัสดุให้เข้ากันปิดฝาไม่ต้องสนิทและตั้งทิ้งไว้ในที่ร่ม โดนระหว่างกระบวนการหมักให้คนอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง เพื่อเติมออกซิเจนและระบายก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ ระยะเวลาที่ใช้ในการหมัก 4 วัน เมื่อหมักเสร็จสมบูรณ์นำน้ำหมักชีวภาพไปใช้ได้ทันที |
อัตราและวิธีการใช้
1. การใช้บำบัดน้ำเสีย
สัดส่วนน้ำหมักชีวภาพ 1 ลิตร ต่อน้ำเสีย 10 ลูกบาศก์เมตร โดยเทในน้ำเสียทุก ๆ 3-7 วัน จนกว่าน้ำเสียจะใส กลิ่นลดลง ควรใช้ในสภาพน้ำนิ่งที่เริ่มส่งกลิ่นเหม็น
2. การใช้ทำความสะอาดคอกสัตว์
เจือจางน้ำหมักชีวภาพ อัตราส่วนน้ำหมัก 1 ส่วนต่อ น้ำ 10 ส่วน ราดให้ทั่วพื้นที่ทุก ๆ 3 วัน
นอกจากสารเร่งซุปเปอร์ พด.6 จะใช้เพื่อผลิตน้ำหมักชีวภาพเพื่อบำบัดน้ำเสียได้แล้ว ยังสามารถใช้กำจัดลูกน้ำยุงรำคาญได้อีกด้วย เนื่องจากในสารเร่งซุปเปอร์ พด.6 มีแบคทีเรียที่เมื่อลูกน้ำยุงรำคาญกินเข้าไปแล้ว จะเข้าสู่ระบบทางเดินอาหาร เมื่อเจอสภาวะเป็นด่างในกระเพาะของลูกน้ำ จะเกิดเป็นสารพิษ ที่ส่งผลทำให้เกิดบาดแผลในทางเดินอาหารทันที จึงทำให้ลูกน้ำยุงตาย วิธีการใช้คือ สารเร่งซุปเปอร์ พด.6 1 ซอง (แบบแห้ง) ต่อพื้นที่ 100 ตารางเมตร
สูตรการทำน้ำหมักชีวภาพเพื่อป้องกันและขับไล่แมลงศัตรูพืช
เป็นการผลิตน้ำหมักชีวภาพร่วมกับจุลินทรีย์จากสารเร่งซุปเปอร์ พด.7 ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ที่มีคุณสมบัติเพิ่มประสิทธิภาพการสกัด โดยกระบวนการหมักพืชสมุนไพรชนิดต่าง ๆ เพื่อผลิตสารควบคุมแมลงศัตรูพืช
ในการผลิตน้ำหมักชีวภาพสูตรนี้วัสดุหลักที่ใช้ คือ พืชสมุนไพร โดยสัดส่วนวัสดุต่าง ๆ จะขึ้นอยู่กับลักษณะของสมุนไพร คือ สมุนไพรสด กับสมุนไพรแห้ง
วัสดุการหมักสมุนไพรสด
พืชสมุนไพร 30 กิโลกรัม
สารให้ความหวาน (น้ำตาลทราย/กากน้ำตาล) 5 กิโลกรัม/10 กิโลกรัม
รำข้าว 100 กรัม
น้ำ 30-50 ลิตร (หรือท่วมวัสดุ)
สารเร่งซุปเปอร์ พด.7 1 ซอง
วัสดุการหมักสมุนไพรแห้ง
พืชสมุนไพร 10 กิโลกรัม
สารให้ความหวาน (น้ำตาลทรายหรือกากน้ำตาล) 5 กิโลกรัม10 กิโลกรัม
รำข้าว 100 กรัม
น้ำ 60 ลิตร (หรือท่วมวัสดุ)
สารเร่งซุปเปอร์ พด.7 1 ซอง
ขั้นตอนการผลิต
![]() |
![]() |
![]() |
1. หั่น สับหัวกลอยให้เป็นชิ้นเล็ก เพื่อให้วัสดุเกิดการย่อยได้ง่ายขึ้น และสกัดสารที่อยู่ในสมุนไพรได้ดีขึ้น |
2. แบ่งน้ำประมาณ 1 ลิตร ใช้สำหรับละลายสารเร่งซุปเปอร์ พด.7 โดยผสมสารเร่งซุปเปอร์ พด.7 ลงไปในน้ำ คนต่อเนื่องประมาณ 5-10 นาที |
3. ผสมกากน้ำตาลกับน้ำที่เหลือ และรำข้าวลงในถังหมัก ควรเลือกถังที่ทึบแสง เพื่อรักษาประสิทธิภาพของน้ำหมักชีวภาพ |
![]() |
![]() |
![]() |
4. นำหัวกลอยที่หั่นเตรียมไว้ใส่ลงในถังหมัก |
5. คนให้เข้ากัน ปิดฝาไม่ต้องสนิทและตั้งไว้ในที่ร่ม หมักไว้ประมาณ 21 วัน ในระหว่างการหมักให้คนน้ำหมักทุก ๆวัน เพื่อระบายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และทำให้ส่วนผสมคลุกเคล้ากัน |
6. เมื่อกระบวนการหมักเกิดขึ้นเสร็จสิ้นแล้ว นำไปกรองเอาเศษวัสดุที่ถูกย่อยไม่หมดออก แล้วเก็บส่วนที่เป็นของเหลวไว้ใช้งาน |
อัตราและวิธีใช้
เจือจางน้ำหมักชีวภาพ อัตราส่วนน้ำหมักชีวภาพ 1 ส่วน ต่อน้ำ 100 ส่วน หรือ น้ำหมักชีวภาพ 10 ซีซี (1 ช้อนโต๊ะ) ต่อน้ำ 1 ลิตร ฉีดพ่นทุก ๆ 3-5 วัน และฉีดพ่นต่อเนื่องอย่างน้อย 4 ครั้ง ขึ้นอยู่กับการระบาดของหนอนและเพลี้ย หากฉีดพ่นใส่พืชไร่ พืชผัก และไม้ดอก ใช้น้ำหมักชีวภาพที่เจือจางแล้ว 50 ลิตรต่อไร่ ส่วนไม้ผล ใช้น้ำหมักชีวภาพที่เจือจางแล้วอัตรา 100 ลิตรต่อไร่
การใช้พืชสมุนไพรไม่สามารถป้องกันและกำจัดแมลงศัตรูพืชได้ทุกชนิด พืชต่างชนิดกันจะมีสารออกฤทธิ์ที่แตกต่างกัน แนะนำให้หมักพืชสมุนไพรแต่ละชนิดแยกกัน แต่สามารถนำมาผสมกันเพื่อทำการฉีดพ่นได้ ควรใช้ฉีดพ่นก่อนที่แมลงระบาด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ไม่แนะนำให้ฉีดพ่นน้ำหมักชีวภาพจากสมุนไพรชนิดเดิมหลายครั้ง เนื่องจากแมลงศัตรูพืชจะเกิดความคุ้นชิน และจะไม่สามารถเห็นผลในที่สุด หากแมลงศัตรูพืชที่พบเป็นเพลี้ย ควรฉีดในช่วงตอนเย็น และเน้นบริเวณใต้ใบพืช เนื่องจากเป็นตำแหน่งที่อยู่ของเพลี้ย ควรให้ใช้วิธีการกำจัดร่วมกับสารชีวภัณฑ์ เช่น บิวเวอร์เรียและเมตาไรเซียม ซึ่งเป็นเชื้อราปฏิปักษ์ โดยที่บิวเวอร์เรียจะผลิตเอนไซม์ที่เป็นพิษต่อแมลงสัตรูพืช โดยจะเข้าทำลายแมลงศัตรูพืช เช่น เพลี้ยอ่อน เพลี้ยไฟ แมลงวันผลไม้ ด้วงหมัดผัก หนอนชนิดต่าง ๆ เป็นต้น (ศูนย์บริหารศัตรูพืช จังหวัดชลบุรี, 2555)
นอกจากข้างต้นที่กล่าวมาแล้วยังมีวิธีที่สามารถเพิ่มประสิทธิของการขับไล่แมลง คือ การใส่สารจับใบ เช่น น้ำยาล้างจาน อัตราส่วนคือ น้ำยาล้างจาน 10 ซีซี (1ช้อนโต๊ะ) ต่อน้ำหมักชีวภาพ 10 ลิตร
บิวเวอร์เรีย |
เมตาไรเซียม |
สารชีวภัณฑ์ที่ขยายในข้าวกึ่งสุกกึ่งดิบ |
ตัวอย่างสมุนไพรป้องกันและกำจัดแมลงศัตรูพืช
1. สะเดา
ชื่อสามัญ |
Neem |
ชื่อวิทยาศาสตร์ |
Azadirachta indica A.Juss. (สะเดาไทย) |
สารออกฤทธิ์ |
อะซาดิแรคติน (Azadirachtin) ควิโนน (Quinone) เคอเซติน(Quercetin) |
ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ |
ใบ เมล็ด |
สรรพคุณ |
– ยับยั้งการลอกคราบ การกินอาหาร การเจริญเติบโตของไข่ หนอน และดักแด้ของแมลง – ขับไล่แมลงหลายชนิด เช่น เพลี้ยอ่อน แมลงหวี่ขาว – ป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช เช่น หนอนด้วง หนอนใยผัก หนอนกระทู้หอม หนอนเจาะยอดกะหล่ำ เพลี้ยอ่อนกะหล่ำ ด้วงหมัดผัก |
2. หางไหลแดง
ชื่อสามัญ |
Derris |
ชื่อวิทยาศาสตร์ |
Derris elliptica Bentham. |
สารออกฤทธิ์ |
โรติโนน (Rotenone) ดีกูลิน (Deguelin) ทิปโฟซิน (Tephrosin) ทอกซิคารอล (Toxicarol) อิลลิปโทน (Elliptone) ซัมมาโทล (Sumatrol) |
ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ |
ราก |
สรรพคุณ |
– ยับยั้งการทำงานของระบบหายใจของแมลง – ป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชหลายชนิด เช่น · ผัก เช่น หนอนใยผัก หนอนกระทู้ผัก เพลี้ยจักจั่นฝ้าย เพลี้ยอ่อนกะหล่ำปลี เพลี้ยอ่อนถั่วฝักยาว หนอนเจาะฝักถั่วฝักยาว หนอนผีเสื้อสีน้ำเงิน · ข้าว เช่น เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล หนอนห่อใบข้าว · ข้าวโพด เช่น หนอนเจาะลำต้นข้าวโพด · แมลงศัตรูพืชโรงเก็บ |
3. หนอนตายหยาก
ชื่อสามัญ |
stemona |
ชื่อวิทยาศาสตร์ |
Stemona tuberosa Lour. |
สารออกฤทธิ์ |
สเตโมนิน (Stemonine) |
ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ |
เหง้า เมล็ด |
สรรพคุณ |
– ป้องกันกำจัดเชื้อรา เชื้อแบคทีเรียได้ดี – ป้องกันและกำจัดแมลงหนอนผีเสื้อ หนอนกระทู้ หนอนหลอดหอม แมลงวันทอง ยับยั้งการกินของหนอนกระทู้ผัก มีความเป็นพิษต่อลูกน้ำยุง – ใช้ฆ่าเห็บในโค กระบือ |
4. สาบเสือ
ชื่อสามัญ |
Bitter bush |
ชื่อวิทยาศาสตร์ |
Chromolaena odoratum L. |
สารออกฤทธิ์ |
พีนีน (pinene) คูมาริน (cumarene) เนบโธควิโนน (naphthoquinone) ลิโมนีน (limonene) ยูพาทอล (eupatol) |
ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ |
ต้น ใบ |
สรรพคุณ |
– เป็นสารไล่แมลงศัตรูพืชต่างๆ เช่น เพลี้ยอ่อน – ป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช เช่น กำจัดเพลี้ยอ่อนไล่หนอนใยผัก หนอนกระทู้ผัก และแมลงศัตรูในโรงเก็บ – ป้องกันกำจัดโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราและแบคทีเรีย |
5. ว่านน้ำ
ชื่อสามัญ |
Sweet Flag , Calamus , Myrtie Grass |
ชื่อวิทยาศาสตร์ |
Acorus calamus Linn. |
สารออกฤทธิ์ |
อซาริล ออลดีไฮด์ (Asaryl aldehyde) ยูจินอล (Eugenol) อซาโรน (Asarrone) อคอริน (Acorin) |
ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ |
เหง้า |
สรรพคุณ |
– เป็นพิษต่อระบบประสาทของแมลง ยับยั้งการเจริญเติบโต และการกินอาหารของแมลง – ป้องกันกำจัดเชื้อรา แบคทีเรีย – ป้องกันกำจัด และขับไล่แมลง เช่น แมลงวันแตง แมลงวันผลไม้ ด้วงหมัดผัก หนอนกระทู้ผัก และแมลงศัตรูในโรงเก็บ |
6. ขมิ้นชัน
ชื่อสามัญ |
Turmeric, Curcuma |
ชื่อวิทยาศาสตร์ |
Curcuma longa L. |
สารออกฤทธิ์ที่สำคัญ |
เคอร์คูมิน (Curcumin) เทอร์มาโรน (turmrone) ซิงจิเบอรีน (zingiberene) พีนีน (pinene) ฟิแลนดรีน (phellandrene) บอร์นีออล (Borneol) และ ซินิออล (cineole) |
ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ |
เหง้า |
สรรพคุณ |
-เหง้ามีน้ำมันหอมระเหย ป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช เช่น หนอนใยผัก หนอนกระทู้หอม หนอนกระทู้ผัก หนอนผีเสื้อ ด้วงงวงช้าง ด้วงถั่วเขียว ด้วงเจาะเมล็ดถั่ว มอด ไรแดง และแมลงศัตรูในโรงเก็บ -ฆ่าลูกน้ำยุง -ป้องกันกำจัดโรคพืชที่เกิดจากแบคทีเรีย และเชื้อรา |
7. ข่า
ชื่อสามัญ |
Galanga |
ชื่อวิทยาศาสตร์ |
Alpinia galanga S. |
สารออกฤทธิ์ที่สำคัญ |
เจอรานิออล (geraniol) พีนีน (pinene), ลิโมนีน (limonene) ซาฟโรล (safrole) ยูจินอล (eugenol) ไซมีน (cymene) และ ลินาลูล (linalool) |
ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ |
เหง้าแก่ ลำต้น |
สรรพคุณ |
– ป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช เป็นพิษต่อมด แมลงวัน และยุง สารที่มีฤทธิ์ไล่และฆ่าแมลงของข่า อยู่ในน้ำมันหอมระเหยจากส่วนเหง้า และแมลงศัตรูในโรงเก็บ – น้ำคั้นจากเหง้า มีสารดึงดูด สารไล่แมลง สารฆ่าแมลง สามารถไล่แมลงวันทองไม่ให้วางไข่ได้ 99.21 % และทำให้โรคใบจุดสีน้ำตาลในนาข้าง หายไป |
8. ตะไคร้หอม
ชื่อสามัญ |
Citronella grass |
ชื่อวิทยาศาสตร์ |
Cymbopogon nardus Rendle |
สารออกฤทธิ์ |
ไซโทรเนเลล (citronellal) โซโทรเนลอล (citronellol) เจอรานิออล (geraniol) เจอรานิออล (geranial) พีนิน (pinene) ไลโมนิน(limonene) บอร์นีออล (borneol) คูราริน (cumarere) เมตทิล ยูจินอล(methyl eugenol) ไซโตนิลลอล(Citonellol) |
ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ |
ใบ ต้นสด |
สรรพคุณ |
– ไล่แมลงศัตรูพืช เช่น หนอนใยผัก เพลี้ยอ่อน เพลี้ยจักจั่น เพลี้ยไฟ แมลงหวี่ขาว และแมลงในโรงเก็บ – ไล่ยุง แมลงวัน – ใช้ขับไล่แมลง และล่อแมลงวันตัวผู้ – กำจัดโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา และแบคทีเรีย |
9. กลอย
ชื่อสามัญ |
White yam |
ชื่อวิทยาศาสตร์ |
Dioscorea hispida Dennst. |
สารออกฤทธิ์ |
ซาโปจินิน (Sapogenin) ไดออสคอรีน (Dioscorine) ทาทาคอรีนZ (Tatacorin) |
ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ |
หัว |
สรรพคุณ |
– มีประสิทธิภาพสูงในการฆ่าแมลง เพลี้ยอ่อน เพลี้ยแป้ง แมลงทั่วไป เหา หนอนกระทู้ผัก หอยทาก หนอน แมลงสิง ด้วงงวง แมลงวันทอง และไร – ใช้เบื่อปลา |
10. ยาสูบ
ชื่อสามัญ |
Tobacco |
ชื่อวิทยาศาสตร์ |
Nicotiana tabacum L. |
สารออกฤทธิ์ |
นิโคติน (nicotine) แอนนาเบซิน (anabacin) จิบเบอเรลลิน(gibberelline) ไพโรโลดิน (pyrrolodine) นอนิโคติน (nornicotine) มายออสมิน (myosmine) |
ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ |
ใบ |
สรรพคุณ |
– เป็นสารฆ่าแมลงได้หลายชนิด เช่น เพลี้ยต่างๆ หนอนผีเสื้อ – ยับยั้งการส่งสัญญาณเซลล์ประสาทของแมลงปากดูด (สารนอร์นิโคตินและแอนาบาซิน) เช่น เพลี้ย มวน (สุขุมาภรณ์ และชาลิณี, 2558) |
11. น้อยหน่า
ชื่อสามัญ |
Sugar Apple |
ชื่อวิทยาศาสตร์ |
Annona squamosa L. |
สารออกฤทธิ์ |
แอนโนเนอิน (anonaine) เรซิ่น (rasin) |
ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ |
เมล็ด ใบ |
สรรพคุณ |
– เป็นพิษกับด้วง ด้วงปีกแข็ง เพลี้ยอ่อนแมลงวัน มวนปีกแข็ง – ผงใบน้อยหน่ามีฤทธิ์ฆ่าแมลงสูงสุดี่ความเข้มข้นตั้งแต่ 3% ขึ้นไปโดยน้ำหนัก สามารถทำให้ด้วงงวงข้าวตาย 100 % ภายในเวลา 4 วัน (พัชราภรณ์ และยืนยง, 2557) |
12. ดองดึง
ชื่อสามัญ |
Flame lily, Climbing lily, Turk’s cap, Superb lily, Gloriosa lily |
ชื่อวิทยาศาสตร์ |
Gloriosa superba L. |
สารออกฤทธิ์ |
ซูเปอร์นิน (Supernim)ในราก, คอลชิซิน(Colchicine)ในใบ, ลูมิคอลชิซิน(Lumicolchicine)ในเมล็ดและเหง้า |
ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ |
เหง้า เมล็ด |
สรรพคุณ |
ฆ่าแมลงศัตรูพืช ฆ่าไรไก่ เหา ฆ่าเชื้อรา และแบคทีเรีย |
13. บอระเพ็ด
ชื่อสามัญ |
Boraphet |
ชื่อวิทยาศาสตร์ |
Tinospora crispa (L.) |
สารออกฤทธิ์ |
พิคโครเรติน (Picroretine) ไดเตอร์พีนอยด์ (Diterpenoid) ตินโนสปอแรน (Tinosporan) |
ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ |
เถา |
สรรพคุณ |
– ใช้ป้องกันกำจัด เชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย -บอระเพ็ดที่ถูกสกัดด้วยแอลกอฮอล์มีประสิทธิภาพในการกำจัดหนอนใยผักได้ดีกว่าการสกัดด้วยน้ำร้อน (กัมปนาท และคณะ, 2554) – ใช้ไล่และกำจัดเพลี้ยกระโดสีน้ำตาล เพลี้ยจักจั่น หนอนกอ โรคยอดเหี่ยว -ใช้ขับไล่แมลงศัตรูพืช เป็นพิษต่อเพลี้ยอ่อน ไร |
14. มะคำดีควาย
ชื่อสามัญ |
Soap Nut Tree |
ชื่อวิทยาศาสตร์ |
Sapindus emarginatus Wall. |
สารออกฤทธิ์ |
ซาโปนิน (Saponin) เคอเซติน (Quercetin) |
ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ |
ผล |
สรรพคุณ |
– ใช้ฆ่าแมลง และเบื่อปลา – สารสกัดมะคำดีควายที่ความเข้มข้น 0.05% และ 0.1% ทำให้เนื้อเยื่อของหอยเชอรี่ถูกทำลาย โดยหอยตาย 100% ภายในเวลา 48 ชั่วโมง (ปราสาททอง และคณะ, 2545) |
15. ผกากรอง
ชื่อสามัญ |
Weeping Lantana, White Sage, Cloth of gold |
ชื่อวิทยาศาสตร์ |
Lantana camara L. |
สารออกฤทธิ์ |
แลนตานดีน-เอ(Lantadene A) |
ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ |
ดอก ใบ |
สรรพคุณ |
ฆ่าและขับไล่แมลงศัตรูพืช สารออกฤทธิ์เป็นพิษต่อระบบประสาทของแมลง เช่น หนอนห่อใบข้าว หนอนกระทู้ผัก มีสารพิษที่เป็นพิษต่อระบบประสาทของแมลงจำพวกหนอนกระทู้ในแปลงผัก จึงมีการนำมาใช้เป็นสมุนไพรสำหรับฆ่าและขับไล่แมลงศัตรูพืช |
16. ยี่โถ
ชื่อสามัญ |
Sweet oleander, Rose bay, Oleander |
ชื่อวิทยาศาสตร์ |
Nerium oleander L. |
สารออกฤทธิ์ |
ไลโคซิด(Lycocide) นีไรโอโดริน(Neriodorin) |
ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ |
ลำต้น ใบ |
สรรพคุณ |
กำาจัดแมลงได้หลายชนิด เช่น มด แมลงผลไม้ และหนอน |
17. ดาวเรือง
ชื่อสามัญ |
marigold |
ชื่อวิทยาศาสตร์ |
Tagetes erecta L. |
สารออกฤทธิ์ |
– ช่อดอกมีสาร Flavonoid glycosides, tagetiin Terthienyl Helenien B-Carotene Flavoxanthin Helenien – ใบ มีสาร Kaempferitrin |
ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ |
ดอก |
สรรพคุณ |
– ใช้กำจัดแมลงได้หลายชนิดเช่น เพลี้ยกระโดด เพลี้ยไฟ แมลงหวี่ขาว หนอนใยผัก – สารสกัดดาวเรือง40% ใช้ร่วมกับกระเพราะ100%สามารถดึงดูดแมลงวันผลไม้ได้ ส่วนมะม่วง กะเพราะ ดาวเรืองที่ความเข้มข้น60% สามารถกำจัดแมลงวันผลไม้ได้80.09% (นุชนาฎ และคณะ, 2019) |
18. กระเทียม
ชื่อสามัญ |
garlic |
ชื่อวิทยาศาสตร์ |
Allium sativum Linn. |
สารออกฤทธิ์ |
อัลลิซิน 0.6-1.0% อัลลิอิน (alliin) ไดอัลลิลไดซัลไฟด์ (diallyl disulfide) เมททิลอัลลิลไตรซัลไฟด์ (methyl allyl trisulfide) คูมาริน (coumarin) เอสอัลลิลซีสทีอีน (S-allylcysteine) |
ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ |
หัว |
สรรพคุณ |
ใช้กำจัดแมลงได้หลายชนิดเช่น เพลี้ยอ่อน เพลี้ยไฟ แมลงหวี่ขาว ด้วงปีกแข็ง โรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคราน้าค้าง โรคราสนิม |
19. ประทัดจีน
ชื่อสามัญ |
Stave-wood, Sironum wood |
ชื่อวิทยาศาสตร์ |
Quassia amara L. |
สารออกฤทธิ์ |
คลาสซิน (quassin) |
ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ |
ต้น ใบ |
สรรพคุณ |
ใช้กำจัดแมลงได้หลายชนิดเช่น แมลง เพลี้ยอ่อน หนอนใยผัก หนอนผีเสื้อ หนอนชอนใบ หนอนแตงเทศ ไร ด้วงเต่า |
20. มะกล่ำตาหนู
ชื่อสามัญ |
American Pea, Prayer Beads |
ชื่อวิทยาศาสตร์ |
Abrus precatorius Linn |
สารออกฤทธิ์ |
แอกกลูตินิน (Agglutinin)เอบรินเอ-ดี (Abrin a-d) เป็นสารกลุ่มเลคทิน (Lectin) |
ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ |
เมล็ด |
สรรพคุณ |
ใช้กำจัดแมลงได้หลายชนิดเช่น หนอนกระทู้ หนอนกินใบ หนอนใยผัก |
21. พริกขี้หนู
ชื่อสามัญ |
Bird Chilli |
ชื่อวิทยาศาสตร์ |
Capsicum frutescens Linn. |
สารออกฤทธิ์ |
ลลิซิน 0.6-1.0% อัลลิอิน (alliin) ไดอัลลิลไดซัลไฟด์ (diallyl disulfide) เมททิลอัลลิลไตรซัลไฟด์ (methyl allyl trisulfide) คูมาริน (coumarin) เอสอัลลิลซีสทีอีน (S-allylcysteine) |
ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ |
ใบ ผล |
สรรพคุณ |
ผลสุก มีคุณสมบัติในการฆ่าแมลง ส่วนเมล็ดมีสารฆ่าเชื้อรา ใบและดอกมีสารยับยั้งการขยายตัวของเชื้อไวรัส พริกจึงเป็นสารฆ่าแมลง ขับไล่แมลงขัดขวางการดูดกินของศัตรูพืชหลายชนิด เช่น มด เพลี้ยอ่อน หนอนผีเสื้อ ด้วงเต่า โคโลราโด หนอนผีเสื้อกะหล่า ด้วงงวงช้าง แมลงศัตรูในโรงเก็บ ไวรัส โรคใบด่างของแตง ไวรัสโรคใบหดของยาสูบ ไวรัสโรคใบจุดวงแหวนของยาสูบ |
การผลิตน้ำหมักชีวภาพโดยวิธีการต่อเชื้อ
การผลิตน้ำหมักชีวภาพโดยวิธีการต่อเชื้อเป็นการผลิตน้ำหมักชีวภาพโดยกรนำน้ำหมักชีวภาพที่มีอายุการหมัก 5 วัน ซึ่งจะสังเกตเห็นฝ้าสีขาวที่ผิวหน้าวัสดุหมักจำนวน 2 ลิตร แทนการใช้สารเร่งซุปเปอร์ พด.จำนวน 1 ซอง และใช้อัตราส่วนของวัสดุหมักเท่าเดิม
การพิจารณาน้ำหมักชีวภาพที่หมักสมบูรณ์แล้ว
- การเจริญของจุลินทรีย์น้อยลง คือคราบเชื้อที่พบในช่วงแรกจะลดลงในระหว่างกระบวนการหมักของน้ำหมักทุก ๆ ชนิดจะพบการเจริญของเชื้อจุลินทรีย์ และฟองก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
![]() |
![]() |
ลักษณะการเกิดฝ้าขาวและระหว่างกระบวนการหมัก |
ลักษณะการเกิดฟองก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ |
- กลิ่นฉุนของแอลกอฮอล์ลดลง
- ไม่มีกลิ่นเหม็น มีกลิ่นหอมเหมือนเหล้าหมัก หรือซีอิ๊ว มีกลิ่นเปรี้ยวเพิ่มขึ้นเนื่องจากเกิดกรดอินทรีย์เพิ่มขึ้น และไม่มีกลิ่นหวานของน้ำตาลเหลืออยู่
- ไม่ปรากฏฟองก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์(CO2) หรือพบจำนวนน้อยมาก
- ความเป็นกรด-ด่าง (pH) อยู่ที่ระหว่าง 3-4
เรียบเรียงและเขียนโดย
นางสาวดวงใจ วัยเจริญ นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ
นางสาววิภาวดี โตจาด นักวิชาการเกษตร
นายทวีเกียรติ ทวีกสิกรรม นักวิชาการเกษตร
ว่าที่ รต.สถาพร สมัยกุล เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน
นายอรรถพล ประวันจะ เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน
เอกสารอ้างอิง
กรมพัฒนาที่ดิน. 2546. คู่มือการผลิตและประโยชน์ของปุ๋ยอินทรีย์น้ำ. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กรุงเทพฯ
กรมพัฒนาที่ดิน. 2549. การผลิตและประโยชน์ของปุ๋ยอินทรีย์น้ำโดยใช้สารเร่ง พด.2. สำนักเทคโนโลยีชีวภาพทางดิน, กรุงเทพฯ
กรมวิชาการเกษตร. 2547. ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ น้ำหมักชีวภาพ (ตอนที่ 1). 1. ควิกปริ๊นท์ ออฟเซ็ท, กรุงเทพฯ
กรมวิชาการเกษตร. 2559. สารควบคุมการเจริญเติบโตพืชและแนวทางการใช้กับไม้ผล. 1. สถาบันวิจัยพืชสวน, กรุงเทพฯ
กัมปนาท รื่นรมย์, ศิริพรรณ ตันตาคม และธรรมศักดิ์ ทองเกตุ. 2554. ประสิทธิภาพในการกำจัดหนอนใยผักของสารสกัดจากบอระเพ็ดที่สกัดด้วยตัวทำละลายต่างๆ, น. 93-98. ใน การประชุมทางวิชาการมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ครั้งที่ 49. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน.กรุงเทพฯ.
คณาจารย์ภาควิชาปฐพีวิทยา. 2541. ปฐพีวิทยาเบื้องต้น . ภาควิชาปฐพีวิทยา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ.
ทวีศักดิ์ แสงอุดม. 2559. สารควบคุมการเจริญเติบโตพืชและแนวทางการใช้กับไม้ผล. พิมพ์ครั้งที่ 1.สถาบันวิจัยพืชสวน, กรุงเทพฯ.
นุชนาฎ บุญชู, วีรนุช แซ่ตั้ง, กีรติ ตันเรือน และคณะ. 2562. การใช้สารสกัดจากใบกะเพราและดอกดาวเรืองเป็นสารล่อและเหยื่อพิษเพื่อควบคุมแมลงวันผลไม้ในสวนมะม่วง. วารสารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธย. 4(1): 1-7
ปราสาททอง พรหมเกิด, ชมพูนุท จรรยาเพศ ปิยาณี, หนูกาฬ และธีระเดช เจริญรักษ์. 2545. ผลของสารสกัดมะคำดีควายต่อเซลล์และเนื้อเยื่อหอยเชอรี่, น. 393-401. ใน การประชุมทางวิชาการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครั้งที่ 41. สาขาการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
พัชราภรณ์ วาณิชย์ปกรณ์ และ ยืนยง วาณิชย์ปกรณ์. 2557. ฤทธิ์ชีวภาพของผงใบน้อยหน่า ใบน้อยโหน่ง และใบทุเรียนเทศต่อการควบคุมด้วงงวงข้าว. แก่นเกษตร 42 (1): 249-254
ศูนย์บริหารศัตรูพืช จังหวัดชลบุรี. 2555. เทคนิคการผลิตขยายเชื้อราบิวเวอเรียและการนาไปใช้อย่าง ถูกต้องและเหมาะสม. รายงานการจัดทาเวทีการจัดการความรู้ ครั้งที่ 1 ปีงบประมาณ 2556 : ชลบุรี
ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดชลบุรี. ม.ป.ป. การใช้พืชสมุนไพรป้องกันและกำจัดศัตรูพืช. แหล่งที่มา: http://www.pmc03.doae.go.th/webpage/research/researchsamunphai.pdf, 15 สิงหาคม 2564
สำนักวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. 2549. สารสกัดจากพืชเพื่อควบคุมศัตรูพืช. 1. โรงพิมพ์ชุมชนสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด, กรุงเทพฯ.
สุขุมาภรณ์ ศรีเผด็จ และ ชาลิณี ฆารพล. 2558. การเปรียบเทียบสารสกัดธรรมชาติสำหรับควบคุมศัตรูพืชในข้าวขาวดอกมะลิ 105. แก่นเกษตร 43(1): 701-706
สุนันทา ชมภูนิช. 2546. ฮอร์โมนพืชและธาตุอาหารพืชในน้ำหมักชีวภาพ. พิมพ์ครั้งที่ 2. กลุ่มวิจัยเกษตรเคมี สำนักวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร กรมวิชาการเกษตร, กรุงเทพฯ.